top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

มารู้จักกับ MIDI เครื่องมือชิ้นสำคัญของนักทำเพลงกันเถอะ!


ถ้าคุณทำดนตรี EDM คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ว่าโน้ตตัวต่ำสุดของบีแฟล็ตคลาริเน็ตคือตัวอะไร หรือถ้าคุณเป็นนักร้องคุณอาจจะไม่ต้องสนใจว่ากลองชุดจูนยังไง ข้อมูลบางอย่างมันก็ไม่ได้จำเป็นกับการทำเพลงของคุณ แต่ถ้าคุณคิดจะทำเพลงขึ้นมาสักเพลงนึงไม่ว่าจะเป็นแนวไหนแล้วล่ะก็ คุณควรจะรู้จัก MIDI และคุณควรรู้จักมันเป็นอย่างดีด้วย

เพราะ MIDI เป็นเครื่องมือที่ให้ความยืดหยุ่นในการทำเพลงอย่างมาก มันทำให้คุณอัดเสียงเครื่องดนตรีที่คุณเล่นไม่เป็นลงไปในแทร็คของคุณได้ มันทำให้คุณตัดต่อเสียงที่คุณเล่นผิดได้โดยไม่ต้องเล่นซ้ำอีกรอบ และนี่เป็นเพียงแค่ประโยชน์ส่วนนึงของมันเท่านั้น การจะใช้ MIDI ได้อย่างชำนาญนั้นคุณจะต้องรู้ว่ามันคืออะไร? ทำงานอย่างไร? และจะควบคุมมันยังไง? ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดเกี่ยวกับคอนเซปต์หลักๆ ของ MIDI กัน

MIDI คืออะไร?

MIDI ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 โดย Ikutaro Kakehashi ผู้ก่อตั้งบริษัท Roland ก่อนจะกลายเป็นมาตรฐานขึ้นในปี 1982 นอกจากนั้น Kakehashi ยังเพิ่งได้รับรางวัล Technical Grammy Awards ในปี 2013 ที่ผ่านมานี้ในการพัฒนา MIDI อีกด้วย

ชื่อเต็มๆ ของ MIDI คือ Musical Instrument Digital Interface ซึ่งเป็นภาษาที่ทำให้คอมพิวเตอร์กับเครื่องดนตรี (และ hardware อื่นๆ) สามารถสื่อสารกันได้

แล้ว MIDI ทำงานยังไง?

ก่อนอื่นลองนึกถึงเวลาคุณพิมพ์ตัวอักษรลงในคอมฯ ดูก่อน.. สมมุติว่าคุณกด ก.ไก่ บนแป้นพิมพ์ ทีนี้ข้อมูลชุดนึงที่ประกอบด้วยเลข 0/1 ก็จะถูกส่งไปยังคอมฯ ของคุณ แล้วคอมฯ ของคุณประมวลผลข้อมูลนั้น ทำให้รู้ว่าเป็นตัวอักษรภาษาไทยนะ, เป็นตัว ก.ไก่นะ, ใช้ฟ้อนท์นี้นะ, ขนาดเท่านี้นะ เสร็จแล้วคอมฯ ของคุณไปหาตัวอักษร ก.ไก่ มาแสดงผลให้คุณบนหน้าจอ

MIDI ก็คือชุดข้อมูลดิจิตอล (0/1) ที่ส่งออกไปนั่นเอง เพียงแต่มันเก็บรายละเอียดของดนตรีแทนที่จะเป็นรายละเอียดของตัวอักษร ชุดข้อมูลของ MIDI มีสองส่วนหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ MIDI Events และ MIDI CC (Continuous Controller) เรามาดูส่วนแรกกันก่อนว่า MIDI Events หลักๆ ประกอบด้วยอะไรบ้าง

  • Note ON / Note OFF - เวลาที่คุณกดคีย์ลงไปคือ Note ON เวลาที่คุณปล่อยคีย์นั้นคือ Note OFF ข้อมูลนี้จะบอกความยาวของโน้ตที่คุณกด

  • Pitch - โน้ตที่คุณกด (C3, C#3, D3, ฯลฯ)

  • Velocity - ความเร็วที่คีย์นั้นถูกกดลงไป ซึ่งแสดงถึงความแรงที่คุณกด เพราะยิ่งคุณกดแรง คีย์ยิ่งเคลื่อนที่เร็ว

ข้อมูลส่วนที่สองคือ MIDI CC ซึ่งมีทั้งหมด 128 ประเภทเรียงไปตั้งแต่ CC0 ถึง CC127 ค่าของแต่ละ CC ก็มีตั้งแต่ 0-127 เช่นกัน ข้อมูลส่วนนี้จริงๆ แล้วจะใช้ Control อะไรก็ได้เช่น Volume (ความดังเบา), Panning (ตำแหน่งซ้าย-ขวา), และ Modulation เป็นต้น ส่วน CC ไหนจะใช้ควบคุมอะไร จริงๆ แล้วก็มีมาตรฐานที่ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์และคีย์บอร์ดยอมรับกัน เช่น

  • CC 1 = Modulation

  • CC 2 = Breath

  • CC 7 = Volume

  • CC 10 = Pan

  • CC 11 = Expression

  • CC 64 = Sustain Pedal

* ถ้าอยากรู้เพิ่มเติมลอง Google คำว่า MIDI CC List ดูครับ

** มีอีก Controller นึงที่ไม่อยู่ใน 127 CC นั่นคือ Pitch Bend ซึ่งเป็นตัวบิดให้เสียงสูงขึ้นหรือต่ำลงตามที่เราตั้งค่าไว้ ค่าของมันจะไม่ใช่ 0-127 แต่จะเป็น 0-16,383

สิ่งที่มักเข้าใจผิดกันเกี่ยวกับ MIDI

จากข้อมูลทั้งหมดข้างบนจะเห็นได้ว่า MIDI ไม่มีเสียงของมันเอง มันเป็นแค่ข้อมูลที่เราโปรแกรมลงไปเพื่อสั่งให้เครื่องดนตรีหรือคอมพิวเตอร์ส่งเสียงออกมาเท่านั้น เปรียบเทียบได้กับโน้ตเพลงที่ไม่ได้มีเสียงของตัวมันเองแต่เมื่อยื่นให้นักดนตรีเล่นจึงจะเกิดเสียงดนตรีขึ้น และนี่เป็นเหตุผลที่ในซอฟท์แวร์ทำเพลงต่างๆ คุณมักจะเห็น MIDI เป็นแท่งสี่เหลี่ยม แต่ไม่ได้เป็น Waveform เพราะมันเป็นเพียงชุดคำสั่งแต่ไม่ใช่ไฟล์เสียง

ภาพประกอบ: Logic Session จากเพลง Brilliant Strings ของผมเองครับ ;) ด้านบนเป็นโน้ตกับ Articulations Key-switches ด้านล่างเป็น Dynamics ใช้ MIDI CC ควบคุม

ประโยชน์ของ MIDI

การที่ MIDI เป็นแค่ชุดคำสั่งทำให้มันมีประโยชน์ในการทำเพลงอย่างมาก เวลาทำเพลงคุณไม่จำเป็นต้องเล่นให้ถูกตั้งแต่เทคแรกที่อัดก็ได้ ถ้าคุณเล่นโน้ตผิดก็แค่คลิกเปลี่ยนมันให้กลายเป็นโน้ตที่ถูกซะ ถ้าคุณเล่นไม่ตรงจังหวะก็สามารถขยับโน้ตต่างๆ ไปในตำแหน่งที่คุณต้องการได้ ถ้าคุณเล่นโน้ตตัวไหนดังไปหรือเบาไปไม่สม่ำเสมอกัน ก็สามารถปรับ Velocity ของโน้ตแต่ละตัวได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถเปลี่ยนเครื่องดนตรีได้ เช่นเปลี่ยนจากเปียโนเป็นไวโอลิน โดยสั่งให้มันเล่น MIDI ชุดเดิมได้อีกด้วย

ทุกวันนี้เราได้ยินเพลงจำนวนมากที่สร้างขึ้นมาจาก MIDI ไม่ว่าจะเป็นตามตู้คาราโอเกะ เพลงดังจากค่ายต่างๆ ดนตรีอิเล็กทรอนิกซ์ หรือแม้แต่ในดนตรีประกอบภาพยนตร์ก็ตาม ถ้าไม่นับดนตรีคลาสสิก พื้นบ้าน แจ้สแล้ว ดนตรีกระแสหลักส่วนมากล้วนมีการผสมผสานกันระหว่าง Audio ซึ่งอัดเสียงมาจากนักดนตรีจริงๆ และ MIDI ทั้งนั้น นอกจากนี้การผลิตเครื่องดนตรีไฟฟ้าต่างๆ เช่นกลองไฟฟ้า เปียโนไฟฟ้า คีย์บอร์ด (ไม่รวมกีตาร์ไฟฟ้านะ) ก็นำหลักการของ MIDI ไปใช้เช่นกัน

ศิลปะในการทำ MIDI Sequencing

พัฒนาการของ MIDI อาจทำให้เราพูดได้ว่าเราเริ่มเข้าสู่ยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มจะเล่นดนตรีได้แล้ว แต่วิธีการคิดของคอมพิวเตอร์ก็ยังแตกต่างกับมนุษย์อยู่มาก คอมพิวเตอร์จะเล่นดนตรีตาม MIDI ที่เราป้อนไปอย่างตรงไปตรงมา แต่นักดนตรีจะตีความโน้ตเพลงตามทักษะและประสบการณ์ มีการแบ่งห้วงหายใจ มีความไม่สมบูรณ์แบบ มีการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาทางดนตรี ฯลฯ

การจะโปรแกรม MIDI ให้คอมพิวเตอร์เล่นดนตรีออกมาได้เสียงใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุดจึงต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดของเครื่องดนตรีนั้นๆ การตีความเพลงที่ถูกต้อง ความเข้าใจธรรมชาติของนักดนตรี ควบคู่ไปกับการใช้ MIDI Events และ MIDI CC อย่างชาญฉลาด เพื่อให้งานออกมาเนียนที่สุด สมจริงที่สุด สำหรับผมแล้วการทำ MIDI Sequencing นั้นคล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์ คือเราต้องมีภาพในใจก่อนแล้วค่อยไปหยิบเสียงโน้ตแต่ละตัวมาเรียงต่อกันให้ได้ภาพที่เราต้องการ ซึ่งแต่ละเครื่องดนตรีก็จะมีความยาก-ง่าย ต่างกันในการ Sequence ให้ฟังดูสมจริง

การ Setup MIDI

โดยปกติแล้วบทความเกี่ยวกับ MIDI ควรจะพูดถึงการ Routing สัญญาณด้วยเช่น MIDI IN/OUT/THRU, MIDI Interface, แต่ปัจจุบันมี MIDI Keyboard (หรือที่บางคนเรียกว่า “คีย์บอร์ดใบ้”) จำนวนมากที่สามารถเสียบสาย USB เข้ากับคอมพิวเตอร์แล้วทำงานได้เลย นอกจากนี้ MIDI Keyboard บางตัวก็ยังมีพวก pad, knob, fader ต่างๆ ซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้อันไหนคุม CC อะไร เพื่อให้ควบคุมได้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย

^ภาพประกอบ: Novation Launchkey Mini MIDI Controller

ทีนี้คุณก็รู้แล้วว่า MIDI ทำอะไรได้บ้าง ถ้าใช้มันคล่องๆ คุณอาจจะสามารถทำเพลงโดยที่ไม่ต้องใช้นักดนตรีเลยก็ยังได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้นักดนตรีฝีมือดีมาอัดเสียงให้แทร็คของคุณ แต่ในบางกรณีที่ผู้กำกับก็ไม่ได้มีงบในการทำเพลงสูงพอจะจ้างนักดนตรี หรือเดดไลน์ค่อนข้างกระชั้นมากจนนักดนตรีไม่มีเวลาซ้อมให้ การใช้ MIDI ก็มักจะเป็นทางออกที่ดีเสมอ

สำหรับบทความนี้ก็ขอจบไว้เท่านี้ครับ ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน ถ้ามีคำถามอะไรก็ inbox มาคุยกันได้เหมือนเดิม แล้วพบกันบทความหน้านะครับ : )

 

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

17,379 views

Comments


bottom of page