เจาะลึกวิธีการใช้ปลั๊กอิน Reverb ที่คนทำเพลงต้องรู้!
เคยสงสัยกันมั้ยว่า เวลาเราได้ยินเสียงอะไรสักอย่างในชีวิตประจำวัน เรารู้ได้ยังไงว่าเสียงนั้นมาจากทางไหน? อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล? อยู่ในห้องขนาดเล็กหรือใหญ่? คำตอบก็คือ นอกจากเสียงที่มาจากแหล่งกำเนิดเสียงโดยตรงแล้ว เรายังได้ยินเสียงที่ไปสะท้อนไปมากับวัตถุต่างๆ รอบตัวเรา เป็นร้อยๆ พันๆ ครั้งก่อนจะมาถึงหูของเราอีกด้วย ทั้งเสียงตรงและเสียงสะท้อนนี้ถูกประมวลผลโดยสมองของเราภายในเวลาชั่วพริบตา ทำให้เรารู้ตำแหน่งของแหล่งกำเนิดเสียงได้ในทันที
ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของเสียงสะท้อนดังกล่าวที่มีอยู่ในธรรมชาติ และนำความรู้ตรงนี้มาใช้ประโยชน์ในการตั้งค่า parameters ต่างๆ ในปลั๊กอิน reverb เพื่อให้คุณสามารถสร้างบรรยากาศของห้อง วางตำแหน่งเครื่องดนตรีให้มีมิติหน้า-หลัง และปรับเปลี่ยนบุคลิกเสียงของเครื่องดนตรีต่างๆ ในมิกซ์ของคุณได้ตามต้องการมากขึ้น
มาทำความเข้าใจกับ Reverb กันก่อน
ผมเชื่อว่าตอนนี้หลายๆ คนกำลังอ่านบทความนี้จากมือถือ แท็บเล็ต หรือไม่ก็คอมพิวเตอร์ ผมอยากให้ลองมองหาลำโพงอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้ตัวคุณที่สุดตอนนี้ สมมุติว่าเป็นลำโพงมือถือก็ได้ ต่อไปนี้เราจะเรียกลำโพงมือถือนี้ว่า “แหล่งกำเนิดเสียง” (sound source)
ทีนี้สมมติว่าคุณเปิดลำโพงให้มีเสียงออกมา แล้วลากเส้นตรงจากแหล่งกำเนิดเสียงมาที่หูของคุณ เราเรียกเสียงที่เดินทางมาที่หูคุณโดยตรงนี้ว่า “direct sound” ซึ่งปกติ direct sound จะชัด แห้ง และมีรายละเอียดที่สุด
ต่อไปคุณลองลากเส้นตรงจากแหล่งกำเนิดเสียง ไปหาวัตถุอะไรก็ได้ก่อน (ผนังห้อง โต๊ะ พื้น เพดาน) ให้สะท้อน 1 ครั้ง แล้วลากเส้นกลับมาที่หูของคุณ เราเรียกเสียงนี้ว่า early reflection หรือเสียงสะท้อนครั้งแรก เสียงนี้จะชัดรองลงมาจาก direct sound แต่จะทำให้คุณรู้ขนาดของห้องรอบๆ ตัวคุณ
สุดท้ายคือเสียงที่เดินทางไปในเส้นทางอื่นๆ และมีการสะท้อนไปมาตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ก่อนจะเดินทางมาถึงหูของคุณ ซึ่งเสียงในกลุ่มนี้มีความเป็นไปได้เป็นร้อยๆ พันๆ เส้นทาง เราเรียกเสียงนี้ว่า reverb tail เป็นเสียงที่มัวๆ ขุ่นๆ ไม่ค่อยชัด ยิ่งสะท้อนก็ยิ่งสูญเสียพลังงานออกไป เมื่อนำ direct sound + early reflection + reverb tail มารวมกัน เราก็สามารถบอกได้ไม่ยากว่าเสียงนั้นมาจากทิศไหน อยู่ไกลแค่ไหน และห้องที่เราอยู่มีขนาดใหญ่หรือเล็ก
เมื่อเข้าใจแล้วเราอาจจะนิยามได้ว่า “reverb คือเสียงที่ออกจากแหล่งกำเนิดเสียง แล้วไปสะท้อนกับพื้นผิวใดๆ ก็ตามตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไปก่อนจะมาถึงจุดรับเสียง” หรือ reverb = early reflection + reverb tail นั่นเอง
บทบาทของ Reverb ในการทำเพลง
ในดนตรีบางประเภทเช่น ดนตรีสำหรับวงออร์เคสตราหรือดนตรีแจ๊ส การบันทึกเสียงโดยมีทั้งไมค์ที่จับ direct sound ของแต่ละเครื่องดนตรี และไมค์ที่จับ reverb ธรรมชาติจากมุมต่างๆ ในห้อง จะให้ผลลัพท์ที่สมจริงและเป็นธรรมชาติที่สุด เพราะเราบันทึกทั้ง direct sound, early reflection, และ reverb tail ออกมาจากสถานที่จริงในสถานการณ์จริงเลย
แต่ในดนตรีประเภทอื่นๆ เช่นดนตรีป๊อป ดนตรีร้อค ฯลฯ แต่ละเครื่องดนตรีอาจจะไม่ได้อัดพร้อมกัน หรือสถานที่แสดงอาจจะไม่ได้ให้ reverb ที่ดีที่สุดสำหรับเพลงนั้นๆ การทำเพลงในสตูดิโอส่วนมากจึงนิยมอัดเสียงแบบอัดเฉพาะ direct sound โดยการตั้งไมค์ให้ใกล้กับเครื่องดนตรี (close miking technique) และการบุแผ่นซับเสียง (acoustic panels) ในห้องอัดเพื่อลด reverb ออกให้ได้มากที่สุด ผลลัพท์ที่ได้คือเสียงที่แห้งและสะอาด พร้อมที่จะนำไปมิกซ์ด้วย reverb เทียมให้เข้ากับเครื่องดนตรีอื่นๆ ในเพลง
ประเภทของปลั๊กอิน Reverb
เมื่อเสียงที่เราอัดมามีแต่ direct sound เราก็ต้องนำมาใส่ปลั๊กอิน reverb เพื่อจำลองเสียงสะท้อนขึ้นมาเอง โดยการจำลองเสียง reverb ด้วยซอฟแวร์นั้นมีวิธีการหลักๆ อยู่สองวิธีด้วยกันคือ
1) Convolution Reverb เป็นการเข้าไปบันทึกเสียงจากสถานที่จริงเช่น ห้องแสดงดนตรี คอนเสิร์ตฮอล โบสถ์ ฯลฯ โดยใช้คลื่นเสียง (impulse) เพื่อบันทึกว่าสถานที่ดังกล่าว จะตอบสนองต่อคลื่นเสียงอย่างไร (impulse response) ปลั๊กอินประเภทนี้จึงให้เสียงที่เป็นธรรมชาติที่สุด คล้ายกับอยู่ในสถานที่นั้นๆ จริง และใช้งานง่ายเพราะแค่โหลด impulse response ของห้องที่ต้องการขึ้นมาก็พร้อมใช้งานแล้ว
2) Algorithmic Reverb เป็นการใช้หลักคณิตศาสตร์มาคำนวณเพื่อสังเคราะห์เสียง reverb ขึ้นมาเอง ไม่ได้อ้างอิงสถานที่จริง reverb ประเภทนี้มีข้อดีคือความยืดหยุ่นของมัน เราสามารถปรับจูนค่าต่างๆ ได้เยอะกว่า ถึงแม้เสียงอาจจะไม่เป็นธรรมชาติเท่าประเภทแรก แต่ reverb ประเภทนี้ก็ให้ effect ที่น่าสนใจกว่าในหลายๆ บริบทของการมิกซ์ เช่นการมิกซ์เพลงป๊อปที่ไม่ต้องการความสมจริงของสถานที่ แต่ต้องการโทนเสียงและน้ำเสียงที่เหมาะสมและดึงดูดความสนใจเป็นหลัก
ตัว Convolution Reverb นั้น มีการใช้งานที่ง่ายและตรงไปตรงมาเพราะอิงจากสถานที่จริง ปรับอะไรได้ไม่มากนัก แต่ตัว Algorithmic Reverb มักจะมีปุ่ม parameters ต่างๆ ให้ปรับเยอแยะไปหมด ถึงแม้ว่าในแต่ละปลั๊กอินจะมีการออกแบบหน้าตา interface ที่ต่างกัน แต่หากคุณเข้าใจหลักการทำงานของ Algorithmic Reverb โดยรวม คุณก็จะสามารถทำความคุ้นเคยกับปลั๊กอินได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผมจะแบ่งการตั้งค่าของมันออกเป็น 8 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
1. เลือก Algorithm ให้เหมาะสม
ปกติปลั๊กอินจะมากับ algorithm ต่างๆ ให้เลือกใช้ ซึ่งชื่อของ algorithm ก็จะอธิบายลักษณะของ reverb อยู่แล้ว เช่น room, hall, และ church คือขนาดของห้องขนาดเล็ก, หอแสดงขนาดกลาง, และโบสถ์ขนาดใหญ่ แต่บางทีก็จะเจอศัพท์แปลกๆ บางคำที่ไม่คุ้นตามาให้เห็นเช่น
- Plate reverb เป็น reverb สังเคราะห์ที่เน้นเสียงสูง บุคลิกเสียงจะออกสว่างและกระด้าง อาจเหมาะกับเครื่องดนตรีที่เด่นย่านสูงเช่น hi-hat, cymbals
- Ambience reverb เห็นชื่อแล้วอาจจะคิดว่าเป็นหางเสียงยาวๆ แต่โดยมาก ambience reverb มักเป็น reverb สั้นๆ ที่เพิ่มบุคลิกให้กับเสียงเฉยๆ มีทั้ง bright ambience ที่เพิ่มความสว่างให้เสียง และ dark ambience ที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักและเนื้อเสียง
- Non-linear reverb เป็น reverb ที่ dynamic envelope (หรือที่เรียกกันว่า ADSR - Attack, Decay, Sustain, และ Release) ของมันถูกกลับจากหลังเป็นหน้า คือปกติ reverb อื่นๆจะเริ่มจากดังแล้วค่อยๆ จางหายไป แต่เจ้า non-linear reverb จะค่อยๆ ดังขึ้นแล้วหายไปอย่างรวดเร็วแทน บางครั้งนิยมใช้กับกลองและ snare drum เพื่อให้บุคลิกเสียงที่น่าสนใจยิ่งขึ้น
2. Pre-delay ควรสั้นหรือยาว?
Pre-delay คือช่องว่าง (เป็นมิลลิวินาที - ms) ระหว่างเสียงแห้งกับเสียง reverb เช่น ถ้า pre-delay = 1000 ms แปลว่าคุณจะได้ยินเสียงแห้งๆ ของเครื่องดนตรีมาก่อน จากนั้น reverb ของมันจะตามมาในอีก 1 วินาที
ทีนี้ pre-delay จะสั้นหรือยาวดี? ในชีวิตจริงขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเครื่องดนตรี ถ้าคุณอยู่ในหอแสดงขนาดใหญ่และเครื่องดนตรีตั้งอยู่ตรงหน้าคุณ เสียง direct sound จากเครื่องนั้นจะมาถึงหูของคุณก่อน ส่วนเสียง reverb ที่เดินทางไปสุดหอแสดงแล้วสะท้อนกลับมาอีกรอบ จะมาถึงหูของคุณทีหลัง ดังนั้น pre-delay ยาว จึงทำให้รู้สึกว่าเครื่องดนตรีอยู่ใกล้
ในทางกลับกันถ้าเครื่องดนตรีอยู่ไกลสุดสายตา ชิดกับของผนังหอแสดง เสียงสดที่มาจากเครื่องดนตรี กับเสียงที่สะท้อนกับผนังหอแสดง จะมาถึงหูคุณในเวลาพร้อมๆ กัน นั่นก็แปลว่า pre-delay สั้น ทำให้รู้สึกว่าเครื่องดนตรีอยู่ไกล และเสียงสดของเครื่องดนตรีจะผสมปนเปไปกับเสียง reverb
เทคนิกในการมิกซ์ทั่วไปคือ pre-delay ที่ยาวเหมาะกับแนวเครื่องดนตรีที่เป็นแนวหลัก เช่นนักร้อง, ลีดกีตาร์ เพราะ reverb ไม่มาทำให้ directs sound ขุ่นมัวลง เสียงจึงมีความสดและได้ยินชัดกว่า ส่วน pre-delay ที่สั้นเหมาะกับการเพิ่มเนื้อเสียงให้กับเครื่องดนตรีต่างๆ เช่น กลองชุด (โดยเฉพาะ snare drum) เพราะ reverb จะไปรวมกับเสียง direct sound ทำให้เนื้อเสียงมีความหนาแน่นยิ่งขึ้น
แต่อย่าลืมว่า ในมิกซ์เพลงๆ นึงคุณสามารถตั้งค่า pre-delay ของแต่ละเครื่องดนตรีก่อนส่งไปหา reverb ให้ยาวไม่เท่ากันเพื่อสร้างมิติ หน้า-หลัง ในมิกซ์ได้ เช่นเสียงของเครื่องดนตรีที่อยู่ข้างหน้าถูกส่ง (send) ไปหา bus 1 ที่มี delay 100ms ส่วนเครื่องดนตรีที่อยู่ข้างหลังถูกส่ง (send) ไปหา bus 2 ที่มี delay 10ms จากนั้นสัญญาณจากทั้ง bus 1 และ bus 2 จะผ่าน (output) ออกไปหา reverb เดียวกันที่ bus 3 เป็นต้น
3. เทคนิกการปรับ Early Reflection
การทำงานของ Algorithmic Reverb ส่วนมากจะคำนวณ Early Reflection (ER) เป็นหลักแล้วส่งสัญญาณผ่าน delay ภายในปลั๊กอินซ้ำๆ กัน เพื่อสร้าง Reverb Tail จำลองขึ้นมา เพราะหากต้องมาคำนวณการสะท้อนไปมาของเสียงเป็นพันๆ เส้นทาง พันๆ ครั้งต่อวินาที ภาระการประมวลผลจะสูงเกินไปสำหรับ cpu คอมพิวเตอร์ปกติ
ปลั๊กอิน reverb ส่วนมากจะให้ผู้ใช้สามารถปรับ ER และ Tail แยกกันได้ เทคนิกนึงที่นิยมใช้กันคือการปิด Tail ออกแล้วใช้เฉพาะ ER ในพาร์ทเครื่องดนตรีที่อาจจะฟังดูน่าเบื่อเช่น guitar, drums overhead, strings, หรือ keyboard การที่ ER มักจะสั้นมากๆ ทำให้บางครั้งหูเราแยกไม่ออกเลยว่าเป็นเสียงสะท้อน แต่เรากลับได้ยินมันเป็นส่วนหนึ่งของเสียงเครื่องดนตรี การใช้แต่ ER จึงเป็นการช่วยเพิ่มบุคลิกของเสียงและความมีชีวิตชีวาให้กับเครื่องดนตรีดังกล่าวคล้ายกับการปรับ Equaliser (EQ) นั่นเอง
นอกจากนี้ ปลั๊กอิน reverb บางตัวจะให้คุณปรับโทนเสียงของ ER ได้ด้วยว่าจะให้มันสว่างหรือมืด ให้แต่ละ ER มาพร้อมกันหรือไม่พร้อมกัน โทนเสียงสว่างและสะท้อนกลับมาพร้อมๆ กันอาจฟังเหมือนกับเสียงสะท้อนในห้องน้ำ ส่วนโทนเสียงมืดและสะท้อนกลับมาไม่พร้อมกันอาจฟังเหมือนอยู่ในห้องขนาดใหญ่ที่มีเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งเยอะๆ การปรับ ER ในการทำเพลงทั่วไป ควรคำนึงถึงโทนเสียงเป็นหลัก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่และความสมจริงมากนัก
4. ปรับความรกของห้องด้วย Density
Density (หรือในบางปลั๊กอินอาจเรียกว่า Diffusion) คือการปรับส่วนของ Reverb Tail ให้มีความหนาแน่นที่แตกต่างกันไป การปรับ Density ที่ค่าต่ำๆ เปรียบเสมือนห้องที่โล่งๆ ซึ่งเราจะได้ยินเสียงสะท้อนแต่ละเสียงชัดเจนและมีความสมมาตร ในขณะที่ Density สูงๆ จะเปรียบเสมือนห้องรกๆ เสียงที่สะท้อนมีความซับซ้อนมากขึ้น มีความไม่สมมาตรไม่แน่นอนมากขึ้น
โดยปกติแล้วการตั้ง Density สูงๆ จะได้เสียงที่เป็นธรรมชาติ หนา และมีความนุ่มละมุนมากกว่า ส่วนค่า Density ต่ำจะได้ reverb ที่บางและกระด้างกว่า อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าการมิกซ์ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของเพลง ยิ่ง reverb มีความหนาก็จะยิ่งกินพื้นที่ในมิกซ์มากขึ้นและลดทอนบุคลิกของเครื่องดนตรีลงไป เพราะฉนั้นในบางเครื่องดนตรีเช่น electric guitar หรือ synth lead อาจจะเหมาะกับ density ต่ำๆ ที่ทำให้เสียงมีความโดดเด่นออกมาจากเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็ได้
5. ความยาวของ reverb
เราสามารถปรับความยาว (Length) ของ reverb ได้โดยตรงในปลั๊กอิน แน่นอนว่าโดยปกติห้องใหญ่ก็ต้องมีความยาวของ reverb ที่ยาวกว่าห้องเล็ก แต่มีใครเคยสงสัยมั้ยว่า ระหว่าง reverb ของโบสถ์ขนาดใหญ่ที่ถูกลดความยาวลงเหลือ 2 วินาที กับ reverb ของห้องขนาดเล็กที่ถูกเพิ่มความยาวขึ้นเป็น 2 วินาที จะให้ผลลัพท์ที่แตกต่างกันยังไง?
การใช้ algorithm ของห้องขนาดเล็กแต่ขยาย length ออก จะทำให้เสียงของเครื่องดนตรีมีความเด่นและสดใสซึ่งเป็นบุคลิกของห้องขนาดเล็ก แต่การใช้ algorithm ของโบสถ์ขนาดใหญ่แต่ลด length ลงมาจะได้เสียงสะท้อนที่นุ่มนวลมีความเป็น background มากกว่า เหมาะกับการเชื่อมเสียงของหลายๆ เครื่องดนตรีเข้าด้วยกัน
ในแต่ละเครื่องดนตรี เราสามารถใช้ reverb ที่มีความยาวต่างกัน หรือแม้แต่มีความยาวเท่ากันแต่มี algorithm ดั้งเดิมคนละ algorithm กันก็ได้ การตั้งค่าความยาวของ reverb โดยพื้นฐานนั้นจะขึ้นอยู่กับจังหวะของเพลง พูดง่ายๆ คือความยาวของหาง reverb ไม่ควรยาวเกินไปจนไปบดบังหัวเสียง (transient) ของจังหวะหลัก (downbeats) ของเพลง ดังนั้นในเพลงช้าๆ ที่พาร์ทดนตรีไม่วุ่นวาย ก็ย่อมมีพื้นที่ให้ reverb tail ยาวๆ ส่วนเพลงเร็วๆ ที่มีความซับซ้อนวุ่นวาย ก็ควรใช้ reverb tail สั้นๆ เพื่อไม่ให้เสียงขุ่นมัว
6. ปรับการดูดซับเสียงของห้องด้วย Absorption
ในชีวิตจริง เมื่อเสียงไปกระทบกับพื้นผิวใดๆ ก็ตาม พลังงานบางส่วน ความดังของย่านเสียงบางย่าน ก็จะถูกวัตถุนั้นดูดซับไว้ พลังงานที่เหลือก็จะสะท้อนต่อไป แต่ว่า... เราต้องไม่ลืมว่าวัตถุแต่ละอย่างดูดซับเสียงได้ไม่เท่ากัน เช่น เสียงที่สะท้อนกับผ้าม่านกำมะหยี่นุ่มๆ ย่อมถูกดูดซับเสียงย่านสูงออกไปมากกว่าเสียงที่สะท้อนกับกระจกแข็งๆ เป็นต้น
การปรับ Absorption ในปลั๊กอิน ก็เหมือนกับการเปลี่ยนพื้นผิวของผนัง เพดาน และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในห้องในชีวิตจริงให้ดูดซับเสียงมากขึ้น แต่แน่นอนว่าปลั๊กอินคงคำนวณทุกจุดสะท้อนของเสียงเป็นพันๆ เส้นทางไม่ไหว ปลั๊กอินส่วนมากจึงคำนวณเฉพาะ Early Reflection แล้วใช้ delay ภายในซ้ำๆ กันเพื่อสร้าง Reverb Tail (เหมือนที่เขียนไปแล้วในข้อ 3.)
ดังนั้น Absorption ก็คือการตัดย่านสูงของเสียงสะท้อนออกทีละนิด เพื่อให้ทุกๆ ครั้งที่เสียงสะท้อนซ้ำๆ มีความหม่นลงเรื่อยๆ เลียนแบบการดูดซับพลังงานของวัตถุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หากตั้งค่า Absorption ไว้ต่ำก็จะได้ Reverb Tail ที่มีโทนเสียงสว่างเสมอต้นเสมอปลาย ส่วนค่า Absorption สูงก็จะทำให้ reverb หม่นลงอย่างรวดเร็ว
เราอาจเคยเห็นโปรดิวเซอร์เพลงป๊อปนิยมใช้ reverb สว่างๆ Absorption ต่ำๆ เพื่อให้เสียงมีความกังวานไพเราะและเป็นจุดเด่น แต่หากจะทำตามก็ต้องระวังเสียง sibilance (เสียง ฉ.ฉิ่ง, ซ.โซ่, จ.จาน, ฯลฯ) ในย่านความถี่ 5k ของนักร้องชายและย่าน 7k ของนักร้องหญิงด้วย เพราะยิ่ง reverb สว่างมากเสียงเหล่านี้ก็จะยิ่งดังออกมาจนน่ารำคาญได้ ทางที่ดีควรจัดการใช้ EQ หรือ De-esser เพื่อกดย่านดังกล่าวลงก่อนสัญญาณจะเข้า reverb
7. เพิ่มความซับซ้อนด้วย Modulation
การทำงานของ Algorithmic Reverb ที่ใช้ Early Reflection เป็นหลักในการคำนวณ Reverb Tail อาจทำให้ reverb ฟังดูแข็งทื่อ หรือไม่มีชีวิตชีวาได้ในบางครั้ง ดังนั้นการปรับ Modulation จึงเป็นการเพิ่มความซับซ้อนและการเคลื่อนไหวให้กับเสียงที่สะท้อน ทำให้ทุกครั้งที่เสียงสะท้อนมีความแตกต่างในแง่ของระดับเสียงและเวลา (pitch & time) มากขึ้น Modulation จึงทำให้ reverb หนาขึ้น น่าสนใจขึ้น และมีความไม่แน่นอนมากขึ้นคล้ายๆ กับการใช้ปลั๊กอิน Chorus หรือ Doppler นั่นเอง
8. Stereo Width ควรกว้างแค่ไหน?
ปลั๊กอิน reverb บางตัวให้เราปรับความกว้างของ stereo ซ้าย-ขวาได้ แม้ว่าการปรับ Stereo Width ที่กว้างมากๆ ทำให้รู้สึกว่า reverb โอบล้อมตัวเรามากขึ้น อินไปกับเพลงมากขึ้น แต่ก็อาจทำให้เสียง reverb หลุดออกจากเสียง Direct Sound ของเครื่องดนตรีตรงกลางได้เช่นกัน ดังนั้นเราควรปรับ Stereo Width ให้มีความสมดุลย์ คือแคบพอที่จะเชื่อมเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ก็กว้างพอที่จะทำให้รู้สึกอินและสนุกไปกับดนตรี
บทส่งท้าย
แม้ว่า reverb จะเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และปลั๊กอิน reverb จะเลียนแบบพฤติกรรมการสะท้อนเสียงที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ในการมิกซ์เพลงด้วย reverb เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงแต่ความสมจริงเสมอไป เอาจริงๆ คือมันไม่มีใครฟังเพลงแล้วบอกว่า “โห เสียงดีเหมือนนั่งฟังอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมฯ เลย” หรืออะไรทำนองนั้น เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ reverb มันช่วยซัพพอร์ทเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ในเพลงรึเปล่า? เราใช้ reverb เป็นเอฟเฟ็กต์เพื่อให้เสียงต่างๆ ในมิกซ์ ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น มีชีวิตชีวาขึ้น มีเนื้อเสียงมากขึ้น ลึกขึ้น แน่นขึ้น สว่างขึ้นหรือมืดลง และเพื่อช่วยให้เราจัดความสำคัญของพาร์ทต่างๆ ในมิกซ์ได้ดังต้องการ อย่าลืมว่ามันไม่มีอะไรถูกผิดหรือเป็นกฎตายตัว และไม่มีอะไรเป็นข้อจำกัดนอกจากความรู้และจินตนาการของเราเอง
บทความนี้ค่อนข้างยาวและเฉพาะทางมากๆ สำหรับใครที่อยู่ด้วยกันมาจนถึงบรรทัดนี้ผมขอขอบคุณและหวังว่ามันจะมีประโยชน์กับนักแต่งเพลง คนทำดนตรี และ music producer ทุกท่านที่ติดตามงานเขียนของผมนะครับ ใครที่ชอบ content แนวนี้ก็สามารถตามมากด Like หรือ Comment ให้กำลังใจกันได้ที่ Facebook Page ได้นะครับ ผมจะได้รู้ว่าบทความแบบไหนที่ผู้อ่านชอบหรือไม่ชอบกัน และปรับทิศทางงานเขียนต่อๆ ไป แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ :)
Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer
コメント