top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

เริ่มทำเพลงกันเถอะ! - แนะนำ 9 ซอฟต์แวร์ทำเพลงที่ดีที่สุดในปี 2018


สวัสดีครับ ในบทความที่ผ่านมาผมได้พูดถึงการเริ่มต้นทำเพลง ว่าจำเป็นต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง (ถ้ายังไม่ได้อ่านก็สามารถคลิกที่ Link นี้ได้เลยครับ) ซึ่งซอฟต์แวร์ทำเพลงหรือที่เราเรียกกันว่า DAW นั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนนึงเลย เพราะถ้าเลือกแล้วก็ควรจะอยู่กับมันไปนานๆ ค่อยๆ เรียนรู้มันจนสามารถใช้งานมันได้คล่องแคล่ว การเปลี่ยน DAW ไปๆ มาๆ อาจจะไม่เป็นผลดีกับ Workflow ของคุณเท่าไหร่นัก เพราะไหนจะต้องจำคีย์ลัด จำฟีเจอร์ต่างๆ ไอค่อนอะไรอยู่ตรงไหน ตั้งค่ายังไง ฯลฯ ในบทความนี้ผมก็เลยคัดมา 9 ซอฟต์แวร์ที่คิดว่าน่าสนใจที่สุด มาให้เป็นทางเลือกสำหรับคนเริ่มต้นทำเพลงกันครับ

DAW คืออะไร?

DAW ย่อมาจาก Digital Audio Workstation ซึ่งถ้าคุณมีคอมเครื่องนึงแต่ไม่ลงซอฟต์แวร์อะไรเลยมันก็คงยังทำอะไรไม่ได้ แต่พอลงซอฟต์แวร์ต่างๆ มันก็ทำให้คุณสามารถสื่อสารและป้อนคำสั่งให้คอมฯ ของคุณทำงานตามต้องการได้ ก็เหมือนกับ Adobe Photoshop ที่เป็นซอฟต์แวร์สำหรับแต่งภาพ หรือ Microsoft Word ที่เป็นซอฟต์แวร์สำหรับพิมพ์เอกสาร DAW ก็มีหน้าที่แปลงคอมพิวเตอร์ของคุณให้เป็นอุปกรณ์ทำเพลง โดยฟีเจอร์หลักๆ 4 ประการของ DAW นั้นได้แก่

1. Audio Recording/Editing : รองรับการบันทึกเสียงและตัดต่อเสียง

2. MIDI Sequencing : สื่อสารกับเครื่องดนตรีต่างๆ ด้วย MIDI

3. Mixing : ปรับระดับเสียงและปรุงแต่งเสียงของแทร็คต่างๆ ด้วย Mixer

4. Mastering : ปรับปรุงคุณภาพเสียงในขั้นสุดท้ายก่อนจะเป็นแทร็คที่เสร็จสมบูรณ์

ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ทำเพลงจำนวนมากให้คุณเลือกใช้ในราคาที่หลากหลาย ทั้งแบบฟรีและแบบจ่ายเงินซื้อ โดยแบบฟรีมักจะมีข้อจำกัดต่างๆ เช่นจำนวนแทร็คและ input/output ที่จำกัดบ้าง, plug-in ไม่ครบบ้าง แม้ว่าคุณจะสามารถใช้ซอฟต์แวร์ฟรีทำเพลงได้เหมือนกัน แต่ข้อจำกัดพวกนี้จะขัดขวางไม่ให้คุณปรับแต่งเพลงของคุณตามต้องการ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นผลเสียกับเพลงของคุณเอง การลงทุนหา DAW ดีๆ มาใช้สักตัวจึงเป็นความคิดที่ดีถึงแม้ว่าคุณจะเพิ่งเริ่มต้นทำเพลงก็ตาม

DAW อันไหนดีที่สุด?

เป็นคำถามยอดฮิตที่ตอบยากจริงๆ เพราะแต่ละซอฟต์แวร์มันก็มีจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง จริงๆ แล้ว DAW ที่ดีที่สุดคือ DAW ที่คุณใช้งานได้คล่องที่สุด ถ้ามีซอฟต์แวร์ไหนที่คุณกำลังใช้อยู่ ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว และไม่คิดว่ามีข้อจำกัดอะไรที่ทำให้คุณทำงานลำบาก ผมแนะนำว่าควรจะใช้ต่อไปและไม่ควรเปลี่ยน เพราะการเปลี่ยน DAW เท่ากับคุณต้องเปลี่ยน Workflow ของตัวเองให้เข้ากับ DAW นั้นๆ ด้วย สุดท้ายมัวแต่เรียนรู้ซอฟต์แวร์ก็ไม่ได้ทำเพลงสักที

แต่ถ้าคุณยังมือใหม่มากๆ ไม่เคยใช้ DAW อันไหนมาก่อนเลย ลองนึกถึงจุดมุ่งหมายในการทำเพลงของคุณดูก่อน เช่น แนวดนตรีที่คุณอยากทำ, คุณต้องการใช้ DAW เพื่อแต่งเพลง หรือต้องการอัดเสียงตัวเองเล่นดนตรีโคฟเวอร์เพลงต่างๆ? คุณจะทำงานกับ MIDI หรือ Audio มากกว่ากัน? การคาดเดาลักษณะงานที่คุณจะทำ จะช่วยให้คุณเลือก DAW ที่เหมาะสมกับความต้องการได้มากขึ้น อย่าลืมว่าถ้าเลือกแล้วคุณควรจะหัดใช้มันจนกว่าจะคล่อง ยิ่งคุณรู้จัก DAW ของตัวเองดีเท่าไหร่ ผลลัพท์ที่ออกมาก็จะยิ่งดีเท่านั้น งั้นถ้าพร้อมแล้วเราไปเริ่มกันที่ DAW แรกกันเลย

1. Logic Pro X

ผู้ผลิต: Apple

ระบบที่รองรับ: Mac เท่านั้น

ราคา: 6,900 บาท

Logic Pro X ถือว่าเป็นซอฟต์แวร์ทำเพลงที่เป็นที่นิยมมากๆ ซึ่งปกติราคานี้ถ้าเป็น DAW อื่นๆ จะยังไม่ใช่ราคาของรุ่นท็อป ซึ่งแปลว่าจะยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ปิดไม่ให้ใช้อยู่ แต่ Logic Pro X นี้มีราคาเดียว ใช้ได้ทุกฟีเจอร์ นอกจากนี้ LPX ยังมากับ 1000+ Virtual Instruments, 20,000+ Audio Loops, และ 80 Audio Processing plug-ins (เยอะมากๆ) ซึ่งทำให้เป็นซอฟต์แวร์ที่คุ้มค่าที่สุด คือจ่ายครั้งเดียวได้ครบทุกอย่าง สามารถเริ่มทำเพลงได้เลย

นอกจากนี้ Logic Pro X ยังมีฟีเจอร์เจ๋งๆ อย่าง “Flex Time” ที่ช่วยตัดต่อ Audio จะยืด จะหด จะย้ายตำแหน่งของเสียงต่างๆ ที่เล่นช้าไปนิด เร็วไปหน่อย ก็ทำได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังมี “Flex Pitch” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ออโต้จูน คือช่วยจูนเสียงเวลาร้องเพี้ยนให้กลายเป็นไม่เพี้ยนนั่นเอง

ซอฟต์แวร์นี้เหมาะสำหรับนักดนตรีที่ใช้ Mac และอยากทำทุกอย่างด้วยตัวเอง มันจะช่วยให้การบันทึกเสียง แต่งเพลง โปรดิวซ์ เป็นเรื่องง่าย ลืมบอกไปว่า Audio Loops ที่แถมมา 20,000 กว่าอันนั้นคือเสียงเครื่องดนตรีที่บันทึกไว้สำเร็จแล้ว ความยาวไม่มากเช่น 4 ห้อง, 8 ห้อง ซึ่งมันไม่มีลิขสิทธิ์(!) ทำให้คุณสามารถแต่งเพลงได้ด้วยวิธีการ Drag and Drop ลากลูปกลองอันนั้น มาผสมลูปเบสอันนี้ ปรับคีย์ให้ตรงกัน ตัดนิดเติมหน่อย ก็กลายเป็นเพลงของคุณแล้ว เรียกว่าเป็นการแต่งเพลงที่ง่ายและสนุกมากๆ โดยแทบไม่ต้องมีพื้นฐานทางดนตรีก็ทำได้

2. Studio One 4

ผู้ผลิต: PreSonus

ระบบที่รองรับ: Mac และ Windows

ราคา: รุ่น Prime ฟรี / รุ่น Artist 3,500 บาท / รุ่น Professional 14,000 บาท

Studio One เป็นซอฟต์แวร์ทำเพลงที่เข้าใจง่าย ใช้งานง่าย และค่อนข้างเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ผู้ผลิตออกแบบฟีเจอร์ต่างๆ ออกมาเพื่อให้ผู้ใช้ทำงานได้สะดวกลื่นไหล โดยเฉพาะฟีเจอร์ drag-and-drop interface และซัพพอร์ทการใช้ iPad เป็น Remote Control ได้ ฟีเจอร์เหล่านี้ทำให้ Studio One เหมาะกับนักแต่งเพลงหรือนักดนตรีที่มีไอเดียสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาและไม่อยากให้ความยุ่งยากทางเทคนิกมาขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของเขา

3. Pro Tools 12

ผู้ผลิต: Avid

ระบบที่รองรับ: Mac และ Windows

ราคา: จ่ายรายปีๆ ละ 9,600 บาท, รายเดือนๆ ละ 960 บาท, ซื้อขาด 19,200 บาท

Pro Tools เป็นซอฟท์แวร์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในกลุ่มผู้ใช้ระดับ Professional จุดเด่นอยู่ที่ความสามารถในการ Recording, Audio Editing, และ Mixing ที่เป็นระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม Pro Tools จะมาพร้อมกับ Audio Processing Plug-ins คุณภาพสูง (แต่ไม่แถม Multiband Compressor) และ Virtual Instruments จำนวนหนึ่ง (กลอง, เปียโน, synth)

จริงๆ สำหรับคนหัดทำเพลงใหม่ๆ ผมไม่แนะนำให้ใช้ Pro Tools เท่าไหร่นัก ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงและด้วยความเป็น DAW เฉพาะด้านที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับ Home Studio สักเท่าไหร่ ทำให้ Pro Tools เหมาะกับสตูดิโออัดเสียงมืออาชีพมากกว่า

4. Ableton Live 10

ผู้ผลิต: Ableton

ระบบที่รองรับ: Mac และ Windows

ราคา: รุ่น Intro 3,200 บาท / รุ่น Standard 14,400 บาท / รุ่น Suite 24,000 บาท

Ableton Live ถือว่าเป็น DAW ที่เป็นที่นิยมที่สุดในกลุ่มคนทำ Electronic Music ถึงแม้ความสามารถในการทำ Audio Editing และ Mixing จะยังไม่มากเท่า DAW อื่นๆ แต่ Ableton Live มาพร้อมกับ Software Instruments, Audio Effects, และฟีเจอร์เจ๋งๆ ที่ช่วยทำไอเดียของคุณให้กลายเป็นเพลงได้ง่ายๆ เช่น Convert Audio to MIDI ที่จะแปลงเสียงฮัมของคุณ เสียงคุณเคาะจังหวะกลองกับโต๊ะ ให้กลายเป็นโน้ต MIDI ที่เล่นโดยเครื่องดนตรี Virtual Instrument

นอกจากนั้นคุณยังสามารถเชื่อมต่อ Ableton Live กับ Push ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของ Ableton ที่ออกแบบมาสำหรับการแสดงสดโดยเฉพาะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทิศทางการพัฒนาของ Ableton Live จะเน้นตอบโจทย์กลุ่มคนทำเพลงแนว EDM เป็นพิเศษ

5. Cubase Pro 9.5

ผู้ผลิต: Steinberg

ระบบที่รองรับ: Mac และ Windows

ราคา: รุ่น Artist 12,000 บาท / รุ่น Pro 21,500 บาท

เป็นซอฟต์แวร์ที่ราคาแรงตามคุณภาพ กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่ม Film Composer หรือคนทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ ส่วนนึงที่ทำให้ Cubase เป็นที่นิยมก็คือสุดยอดฟีเจอร์อย่าง Expression Map ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสลับ Articulations ของเครื่องดนตรี (เช่นไวโอลินสีค้างไว้, สีสั้นๆ, สีต่อเนื่อง, ดีดสาย) ไปมาได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ผู้ใช้ DAW อื่นๆ อาจจะต้องนั่งเขียน Keyswitches เองทีละตัว ซึ่งฟีเจอร์นี้มีประโยชน์มากๆ ในการทำ Orchestral Mockup (= การทำเพลงออเคสตราโดยใช้ซอฟต์แวร์แทนนักดนตรีจริง)

ข้อเสียของ Cubase ที่ได้ยินคนบ่นกันบ่อยๆ ก็คือเวลาคุณใช้ซอฟต์แวร์คุณจะต้องมี USB อันเล็กๆ เสียบคาคอมไว้ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นจะเปิดโปรแกรมไม่ได้เลย ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ทาง Steinberg สร้างมาเพื่อป้องกันซอฟต์แวร์ตัวเองไม่ให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์

6. Reason 10

ผู้ผลิต: Propellerhead

ระบบที่รองรับ: Mac และ Windows

ราคา: รุ่น Intro 3,200 บาท / ตัวเต็ม 12,800 บาท

Reason เป็น DAW อีกตัวนึงที่เหมาะกับคนทำ Electronic Music เพราะแถม Virtual Instruments และ Effects เยอะมากๆ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแนว Electronic) ซอฟต์แวร์นี้มี GUI ที่เท่ห์เป็นเอกลักษณ์ คือเวลาจะ route สัญญาณจากที่นึงไปอีกที่นึง เราจะเห็นสายโยงไปโยงมาเหมือนกับเราทำงานกับอุปกรณ์อนาล็อกจริงๆ

7. FL Studio 20

ผู้ผลิต: Image Line Software

ระบบที่รองรับ: Mac และ Windows

ราคา: รุ่น Fruity 3,200 บาท / รุ่น Producer 6,400 บาท / รุ่น Signature 9,600 บาท

“จ่ายครั้งเดียวจบ” เป็นจุดขายจุดนึงของ FL Studio เพราะคุณสามารถอัพเกรดเป็นรุ่นใหม่ขึ้นได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งรุ่น Producer ก็เรียกว่าเป็นตัวสมบูรณ์แล้ว ถ้ารุ่นสูงขึ้นไปกว่านี้ก็จะได้พวก Plug-ins หรือ Virtual Instruments ต่างๆ เยอะขึ้น

FL Studio เป็น DAW ที่ใช้งานง่าย แม้ว่าจะไม่ค่อยเด่นนักในเรื่องการตัดต่อ Audio แต่ FL Studio โดดเด่นมากๆ ในการทำ MIDI จึงทำให้เป็นที่นิยมในกลุ่มคนทำ Electronic Music เป็นพิเศษ แต่ FL Studio ก็มีความยืดหยุ่นกับสไตล์เพลงสูงกว่า Ableton Live หรือ Reasons ทำให้คนทำเพลงแนว Rock, Pop, Metal, และ Country ก็เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ FL Studio เช่นกัน (ผมเคยเห็น Composer บางคนเอามาทำ Orchestral Mockup ด้วยซ้ำ)

ฟีเจอร์ที่โดดเด่นของ FL Studio ได้แก่ Pattern Roll ที่ช่วยให้การเขียนลูปกลองง่ายขึ้น, Sample Editor ที่ช่วยให้คุณสร้าง Virtual Instruments ของคุณเองจากไฟล์ Audio อะไรก็ได้ที่คุณอัดเสียงมา, Automation Envelopes ที่ช่วยให้คุณเขียน Automation ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และยังสามารถเซฟเก็บเอาไว้ใช้ทีหลังได้ นอกจากนี้ FL Studio ยังมาพร้อมกับ Synthesizers จำนวนมากและ plug-ins ที่จำเป็นในการทำ Mixing และ Mastering อีกด้วย

8. Reaper 5

ผู้ผลิต: Cockos

ระบบที่รองรับ: Mac และ Windows

ราคา: 1,920 บาท

Reaper เป็น DAW ราคาถูก สามารถปรับแต่ง Layout ได้และค่อนข้างมีความสมบูรณ์ในตัวคือ บันทึกเสียงได้, ทำ MIDI พอได้, ตัดต่อเสียงได้, และทำ mixing & mastering ได้ พูดง่ายๆ คือทำได้ทุกอย่างแต่ก็อย่าไปคาดหวังอะไรกับมันมาก ไม่แน่ใจว่ามันมี Virtual Instruments กับ Plug-ins ต่างๆ แถมมาด้วยรึเปล่า ถ้าสนใจจริงๆ ลองโหลด Free Trial มาเล่นดูก่อนก็ได้ครับ

9. Digital Performer 9

ผู้ผลิต: Mark of the Unicorn (MOTU)

ระบบที่รองรับ: Mac และ Windows

ราคา: 16,000 บาท

Digital Performer เป็น DAW เก่าแก่ที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1985 ในระบบ Apple Macintosh ก่อนจะขยายมารองรับ Windows ด้วยเมื่อไม่นานมานี้ ทิศทางการพัฒนาของ Digital Performer จะเน้นลูกค้ากลุ่ม Professional Film Composer โดยเฉพาะ ทำให้ DP กลายเป็น DAW ที่ค่อนข้างเฉพาะทางสำหรับการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์/วีดีโอ

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ DP ได้แก่ “Chunks” ซึ่งผู้ใช้จะสามารถแบ่งดนตรีออกเป็นคิวย่อยๆ เพื่อให้ Sync กับ Timecode ของหนังได้แม่นยำ และทุกคิวก็จะถูกเซฟรวมกันอยู่ในโปรเจ็คเดียวกัน นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถใส่ Marker ให้กับจุดสำคัญต่างๆ ในหนัง (Hitpoint), ส่งต่อสัญญาณเสียงในฟิล์มไปยัง Fader เพื่อแยก Dialogue และ Sound Effects, และ export ไฟล์หนังพร้อมกับดนตรีประกอบที่ทำไว้อีกด้วย

สรุปแล้วเลือก DAW อันไหนดี?

อย่างที่บอกไปว่า DAW แต่ละอันก็มีข้อดี-ข้อเสียของมัน ซึ่งถ้าแบ่งกลุ่มตามความต้องการก็จะได้ประมาณนี้

DAW สายใช้งานง่าย ประหยัดเวลา : FL Studio, Studio One

DAW สายสมดุลย์ ทำได้ทุกอย่าง : Cubase, Logic Pro X, Reaper

DAW สาย Electronic Music : Ableton Live, Reasons

DAW เฉพาะทาง ไม่เหมาะกับผู้เริ่มต้น : Pro Tools, Digital Performer

บทส่งท้าย

สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากไว้ว่า ไม่ว่าคุณจะเลือกเรียนรู้และทำเพลงด้วย DAW อันไหนก็ตาม คุณก็มีโอกาสที่จะผลิตเพลงที่มีคุณภาพได้ทั้งนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว DAW มันก็เป็นแค่เครื่องมือ แต่คุณภาพของดนตรีมันอยู่ที่จินตนาการและฝีมือ (Art and Craft) ของคนทำ และทางเดียวที่จะพัฒนาฝีมือได้ก็คือการเรียนรู้และฝึกฝน

ถ้าคุณเป็นคนนึงที่สนใจจะเริ่มทำเพลง ลองเริ่มต้นด้วยการเลือก DAW มาสักอันแล้วเข้าเว็บไซต์หลักไปดาวน์โหลด Free Trial มาลองใช้ดูว่ามันเหมาะกับคุณมั้ย ค่อยๆ สำรวจไปว่ามันทำอะไรได้บ้าง ถ้าชอบและอยากเข้าใจมันมากขึ้นก็ลองหา Online Tutorial ฟรีใน YouTube ดู หรือถ้าคุณอยากเก่งเร็ว เป็นเร็ว การหา Online Course มาดูและหัดทำตามก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวเลย

ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจเริ่มต้นทำเพลงนะครับ ถ้าคิดว่ามีประโยชน์ก็อย่าลืมกด Like, หรือ Share ให้เพื่อนคนอื่นๆ ที่อยากหัดทำเพลงได้อ่านด้วย หรือถ้ามีข้อสงสัยข้อแนะนำอะไรก็ Comment ไว้ด้านล่างได้เลยครับ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ :)

 

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

29,315 views
bottom of page