top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

Sample Library: ทำเพลงยังไงโดยไม่ต้องใช้นักดนตรี?


“อะไรนะ ทำเพลงโดยไม่ใช้นักดนตรี มันจะเป็นเพลงได้ไง?” ,

“คือมันทำได้เฉพาะดนตรีอิเล็กทรอนิกซ์ แบบพวก EDM ในคลับไรงี้หรอ?” ,

“ทำดนตรีออร์เคสตราโดยไม่ใช้นักดนตรีเลยเนี่ยนะ แล้วเสียงมันจะเหมือนจริงมั้ย?”

สวัสดีครับทุกๆ คน ก่อนที่ผมจะตอบคำถามด้านบน มีใครรู้บ้างมั้ยครับว่าดนตรีที่เราฟังกันในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเพลงโปรดที่เราฟังระหว่างเดินทางไปทำงาน, ดนตรีประกอบโฆษณา, ละครทีวี, ไปจนถึงดนตรีประกอบภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง มีจำนวนกว่าครึ่งที่เป็นการผสมผสานระหว่าง Sample Library และนักดนตรีจริง และยังมีจำนวนอีกไม่น้อยที่ผลิตจาก Sample Library ล้วนๆ (ถ้าไม่นับดนตรีแนว classical และ jazz นะ)

จากคำถามด้านบน ผมขอตอบว่าการใช้ Sample Library มาทดแทนนักดนตรีนั้นเป็นเรื่องปกติในการทำเพลงมากๆ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะในดนตรีอิเล็กทรอนิกเท่านั้น และใช่ครับ มันสามารถผลิตดนตรีออเคสตราออกมาให้เสียงใกล้เคียงวงออเคสตราจริงได้มากๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของคนทำ MIDI sequencing ด้วยครับ

ว่าแต่ทำไมเราถึงต้องอยากทำดนตรีโดยไม่ใช้นักดนตรีจริงล่ะ?

การทำเพลงด้วย Sample Library มันมีข้อดีหลายอย่างเลยครับ เท่าที่ผมนึกออกก็คือ..

- เหตุผลแรกอาจจะเป็นเรื่องงบ การไปจ้างนักดนตรี เช่าสตูดิโออัดเสียง มันมีค่าใช้จ่ายสูงนะ ถ้างบของโปรเจคหนังเรื่องนึงมันค่อนข้างจำกัด ผู้กำกับก็คงไม่อยากเสียเงินไปกับดนตรีมากเกินไป เพราะไหนจะต้องจ่ายค่าถ่ายทำ ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าทำ colour grading ทำไฟล์ dcp สำหรับฉายในโรงอีก ซึ่งในกรณีนี้ composer ก็ต้องหันมาใช้ Sample Library ในการทำเพลงแทน

- เหตุผลที่สองเป็นเรื่องของเวลาและความยืดหยุ่น การอัดเสียงดนตรี 5 นาทีสั้นๆ อาจจะต้องใช้เวลาในห้องอัดหลายชั่วโมง ต้องอัดหลายเทคกว่าจะเป็นที่น่าพอใจ บางทีนักดนตรีก็ซ้อมมาน้อยอัดเท่าไหร่ก็ไม่ได้อย่างใจอีก แต่ในทางกลับกัน ข้อมูล MIDI มันสามารถแก้ไขได้ทันทีเมื่อไหร่ก็ได้ โน้ตผิดก็เปลี่ยนได้ จังหวะผิดก็เลื่อนได้

- เหตุผลที่สามเป็นเรื่องของเสียง อันนี้ผมเคยฟังบทสัมภาษณ์ของ Danny Elfman เขาบอกว่า ถึงแม้สกอร์ของเขาจะใช้ออเคสตราจริงบันทึกเสียง แต่ก็มีเสียงบางอย่างใน final mix ของเขาที่ใช้ Sample Library นะ เช่นเสียงดีดสายของเครื่องสาย (pizzicato) โดยเฉพาะเวลาที่นักดนตรีในวงต้องสีโน้ตตัวอื่นอยู่ (arco) เขาไม่อยากแบ่งนักดนตรี (divisi) บางส่วนมาดีดสายเพราะจะทำให้เสียงบางลง หรือแม้แต่บางครั้งเขาก็ซ้อนเสียง cello จาก Sample Library เพิ่มเข้าไป เพื่อเพิ่มความหนักแน่นของเสียง เพราะที่อัดมามันยังหนักไม่พอ

(ถ้าใครสนใจลองไปดูเพิ่มเติมได้ครับ: https://youtu.be/712ntdvBBTg)

- เหตุผลสุดท้าย ผมคิดว่า Sample Library เหมาะกับนักแต่งเพลงที่กำลังพยายามสร้าง portfolio ของตัวเองมากๆ ในแต่ละปีมีนิสิตนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่จบ music composition ซึ่งพวกเขามีไอเดีย มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สามารถจะเผยแพร่ไอเดียของเขาออกมาได้ เพราะข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่แสดง การหานักดนตรี การอัดเสียง ฯลฯ จนสุดท้ายต้องละทิ้งทักษะอันมีค่านี้ไปแล้วทำอย่างอื่นเป็นอาชีพแทน เพราะเราอยู่ในโลกอันโหดร้ายที่อยากได้งานก็ต้องมีประสบการณ์ แต่ถ้าอยากมีประสบการณ์ก็ต้องได้ทำงานก่อน ซึ่งการทำงานกับ Sample Library จะช่วยให้เขาก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวได้ นำไอเดียออกมาเป็นเสียงดนตรีได้จริง และผลิตผลงานเป็นของตัวเองไว้นำเสนอ ไว้ต่อยอดอาชีพของตัวเองได้

ทีนี้ผมจะพูดถึงการทำงานคร่าวๆ ของ Sample Library ละ.. ก่อนจะอ่านต่อจากตรงนี้ คุณควรมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ MIDI ก่อน ถ้าใครยังงงๆ อยู่ว่าผมพูดเรื่องอะไร ลองย้อนไปอ่านบทความสั้นๆ ที่ผมเขียนไว้เกี่ยวกับ MIDI ก่อนนะ

Sample Library คืออะไร?

Sample Library หรือที่คนทำเพลงบางคนก็เรียกว่า “แซมป์” คือคลังของเสียงเครื่องดนตรี ที่อัดเสียงมาจากนักดนตรีจริงๆ เล่นโน้ตทีละตัว แล้วนำโน้ตเหล่านั้นมาโปรแกรมเข้ากับซอฟต์แวร์ โปรแกรมเข้ากับซอฟต์แวร์ทำไม? ก็เพื่อให้เสียงต่างๆ เปล่งออกมาตามข้อมูล MIDI ที่ซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้รับ ยกตัวอย่างเช่น พอเรากด MIDI Keyboard เสียง C3 ซอฟต์แวร์มันก็จะรับข้อมูลนี้ แล้วไปดึงเสียงเปียโนโน้ต Middle C ออกมาให้เรา

แต่จริงๆ การผลิตมันไม่ได้ง่ายอย่างที่พูดเท่าไหร่หรอกนะ เพราะมีปัจจัยอีกหลายอย่างมากๆ ที่จำเป็นหากจะทำให้เสียงมันสมจริง เช่น

- ต้องอัดเสียงโน้ตตัวนึง หลายๆ ระดับความดัง (Velocity Layer)

- ต้องอัดเสียงโน้ตตัวนึง หลายๆ ครั้ง (Round Robins)

- ต้องอัดเสียงโน้ตตัวนึง ในความยาวที่ต่างกัน (Staccato, Detache, Sustained)

- ต้องอัดเสียงโน้ตตัวนึงในระดับการพรมนิ้วที่แตกต่างกัน (Non vibrato, Vibrato, Progressive Vibrato)

- ต้องอัดเสียงโน้ตตัวนึงด้วยไมโครโฟนหลายชุด (Close mic, Decca Tree, Room Mic, Ambient Mic)

- ต้องอัดเสียงโน้ตตัวนึงในหลายๆ articulation (staccato, spiccato, sul tasto, sul ponticello, tremolo, trills, ฯลฯ)

ด้วยเหตุนี้ บริษัทผลิต Sample Library จึงจำเป็นต้องใช้ต้นทุนสูงในการผลิตซอฟต์แวร์แต่ละอันขึ้นมา เพราะมีทั้งจ้างนักดนตรี เช่าซื้ออุปกรณ์อัดเสียงราคาสูง เช่าสตูดิโออัดเสียง จ้างคนผลิตซอฟแวร์ ทำการตลาด ฯลฯ ส่งผลให้ Sample Library บางตัวมีราคาแพง (แพงที่ว่าเนี่ย มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน) และขนาดของไฟล์ซอฟต์แวร์ก็จะมีขนาดใหญ่ตามความละเอียดในการอัดเสียงอีกด้วย อย่าง Sample Library ที่ผมใช้อยู่บ่อยๆ ขนาดรวมกันก็จะอยู่ที่ราวๆ 1.5 TB ครับ

ส่วนวิธีการใช้คร่าวๆ ก็คือเปิดตัวซอฟต์แวร์ขึ้นมาใน Digital Audio Workstation (Logic, Cubase, FL Studio, ฯลฯ) แล้วก็เขียนข้อมูล MIDI ในการดึงเสียงที่ต้องการมาเรียงกันเป็นประโยคดนตรี หรือเป็น texture ต่างๆ ที่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่นต้องการโน้ตตัว C3 ค้างไว้ยาวๆ ความดัง mezzo forte - ก็อาจจะต้องใช้ MIDI C3, ค่า Velocity 56-88, ใส่ Keyswitch C0 เพื่อให้เป็น sustained และปรับ MIDI CC อื่นๆ ตามต้องการ (CC1, CC2, CC7, CC11, ฯลฯ) แนะนำให้อ่านคู่มือด้วยเพราะแต่ละ Sample Library จะมีวิธีการใช้ที่ต่างกันครับ

ถ้าไม่อยากซื้อ จะทำ Sample Library ใช้เองได้มั้ย?

ได้ครับ มี composer จำนวนมากที่อยากใช้ Sample Library ที่ทำขึ้นมาเองเพื่อให้เพลงของตัวเองโดดเด่นจากเพลงของคนอื่นๆ หรือแม้แต่ต้องการเสียงของเครื่องดนตรีพื้นเมืองบางอย่างที่หาซื้อไม่ได้เช่น ขิม ซอ ขลุ่ย ระนาด แคน ก็อาจจะต้องทำขึ้นมาเอง โดยการหาสถานที่ หานักดนตรีมาอัดเสียงโน้ตทีละตัว แล้วนำมาโปรแกรมเองใน sampler ต่างๆ (เช่น Kontakt, หรือ sampler ที่แถมมากับโปรแกรมทำเพลง) โดยทั่วไปเครื่องดนตรีที่ใช้การดีด การตี จะทำง่ายกว่าเครื่องดนตรีที่ใช้การสี การเป่า เนื่องจากความละเอียดอ่อนของเสียงและ articulation ที่ต่างกันครับ

ถ้าอยากรู้คร่าวๆ ว่าทำยังไง แนะนำให้ดูวีดีโอด้านล่างนี้ครับ เป็นของ Spitfire Audio:

อยากเริ่มสะสม Sample Library ไว้ทำเพลง ควรจะซื้ออันไหนก่อน? อันไหนเสียงดีที่สุด?

การมี Sample Library ไว้เยอะๆ ก็ทำให้เรามีเสียงไว้ใช้ในเพลงเยอะขึ้น ทำงานได้หลากหลายแนวขึ้น แต่อย่างที่บอก.. Sample Library ส่วนมากมีราคาสูง และก็มีตัวเลือกมากมายจนเลือกไม่ถูกว่าจะเริ่มจากไหนดี ซึ่งผมก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคุณควรจะซื้อ Sample Library อันไหน เพราะสุดท้ายแล้วมันขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวและแนวเพลงที่คุณต้องการจะทำ เช่น ผมอาจจะชอบเสียง orchestra สะอาดๆ แบบ Vienna Symphonic Library แต่คุณอาจจะชอบเสียงที่ฟังดูใหญ่ๆ อลังๆ อย่าง Metropolis Ark ของ Orchestral Tools ทั้งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ แนะนำให้ลองฟังตัวอย่างในหน้า Product Page ก่อนว่าตรงกับสไตล์ของคุณแค่ไหน ลองไปดูคนอื่นใช้ใน YouTube ก็ได้ เพื่อให้อธิบายง่ายขึ้น ผมขอแบ่ง Sample Library ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันได้แก่

1. All-in-One เป็นประเภทใช้ง่าย มี articulations เท่าที่จำเป็น รวบรวมทุกอย่างที่คุณต้องการเอาไว้ในแพ็คเดียว ถึงแม้ว่าจะมีเสียงของวงออเคสตราทั้งวง แต่ส่วนมากก็จะ pre-orchestrated มาแล้วเช่น เอาเสียง cello กับ double bass มารวมกันไว้ใน patch เดียวกันชื่อว่า Low Strings (เพราะส่วนใหญ่จะนิยม doubling สองเครื่องนี้กันเป็น octave) ส่วนมาก Sample Library ประเภทนี้จะเสียงดีตั้งแต่แรกเลย ไม่ต้องมิกซ์มาก แต่ก็ขาดความยืดหยุ่นของแต่ละ section ไป เปรียบเทียบเหมือนพู่กันหัวใหญ่ ที่ช่วยให้คุณ sketch งานได้เร็ว แต่ไม่เหมาะสำหรับการตกแต่งรายละเอียด

ตัวอย่าง: Spitfire Albion ONE, Orchestral Tools Inspire หรือ Metropolis Ark, VSL Smart Orchestra,

2. Section Library เป็นประเภทที่แบ่งตาม section เครื่องดนตรี เช่น brass ก็จะมีแต่เครื่องเป่าทองเหลืองล้วนๆ ประเภทนี้จะมี articulations เยอะขึ้นมาจากประเภทแรก และไม่ pre-orchestrated โดยจะแบ่งตามเครื่องดนตรีเช่น trumpet a3, horn a4, trombone a3 ฯลฯ แตกต่างกับประเภทแรก (all-in-one ข้างบน) ที่จะมาเป็น high brass, low brass สำเร็จเลย แต่ราคาของ Section Library ก็จะแพงตามไปด้วย บางทีคุณอาจต้องจ่ายราคาเท่าๆ กับ all-in-one เพื่อจะได้แค่ brass section ดีๆ สักอันนึง

ตัวอย่าง: Cinesample CineWinds/CineBrass/CineStrings, Orchestral Tools Berlin Series (มันจะแบ่งเป็น Strings/Winds/Brass ย่อยๆ อีกที), Eastwest Hollywood Orchestra (อันนี้ก็เหมือนกัน)

3. Solo Library เป็นประเภทที่เน้นเครื่องดนตรีเดี่ยว articulations เยอะ ใช้เพื่อทดแทน soloist ซึ่ง Sample Library ประเภทนี้ถือว่าใช้ยากที่สุด เพราะคุณจำเป็นจะต้องเข้าใจธรรมชาติในการเล่นของเครื่องดนตรีนั้นๆ เช่นการ vibrato ของเครื่องสาย, การตัดลิ้นของเครื่องเป่า, การแบ่ง phrase และการใช้ pedal ของเปียโน, ฯลฯ เพื่อให้เขียน MIDI ออกมาแล้วเนียนสมจริง ไม่งั้นบางทีการจ้างนักดนตรีที่มีความสามารถมาอัดเสียงให้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

ตัวอย่าง: Cinesample Tina Guo Cello, Eastwest Hollywood Solo Violin, VSL Flute

นอกจากนี้ก็ยังมี Sample Library อื่นๆ ที่เน้น Sound Design หรือการออกแบบเสียงบรรยากาศ ซึ่งเหมาะกับการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์อย่างมากเช่น Spectrasonic’s Omnisphere, Native Instrument’s Thrill, ฯลฯ

แล้วจะเริ่มซื้ออันไหนก่อนดี?

คำแนะนำของผมก็คือ ให้เริ่มจากซื้อกลุ่ม All-in-one มาเล่นก่อน ทำไมน่ะเหรอ? ก็เพราะมันใช้งานง่ายและเสียงดีตั้งแต่แรก สมมุติคุณคิดทำนองออกมาได้ทำนองนึง แทนที่จะต้องมานั่งคิดว่าจะใช้เครื่องดนตรีอะไรเล่นดี flute, หรือ clarinet, หรือ english horn ดีนะ? คุณก็เลือกใช้ high winds ทีเดียว จบ เสียงดี แล้วไปทำพาร์ทอื่นต่อ จบงานได้เร็วโดยไม่ต้องคิดมากเรื่อง orchestration หรือ mixing เพราะทุกอย่าง pre-made มาให้แล้ว

ทีนี้ถ้าหลังจากทำเพลงไปได้ซักระยะนึง คุณอาจจะเริ่มรู้สึกละว่าเสียงมันเริ่มซ้ำ เริ่มมีไอเดียแปลกๆ เช่น

"อยากลองเอา flute กับ violin I มาดับบลิ้ง melody กันบ้าง โดยให้ clarinet - horn - viola เล่น countermelody ส่วน cello กับ bass ก็ไม่อยากให้ดับบลิ้งกันละ อยากให้ bass เป็น pizzicato มากับ tuba เพื่อเน้นหัวโน้ต ส่วน cello ก็ divisi ไปเล่นคอร์ดพร้อมๆ กับ french horn 4 ตัวแทน"

อ่ะ ทีนี้พอมีไอเดียแบบนี้คุณค่อยเริ่มมองหา section library เพื่อจะได้ใช้เครื่องดนตรีแยกกันได้อย่างอิสระขึ้น แน่นอนว่ามันจะ mix ให้เข้ากันยากกว่าเดิม แต่คุณก็จะค่อยๆ เรียนรู้ของใหม่ โดยมี all-in-one library อันเก่าเป็นตัวอ้างอิงว่า balance เสียงมันควรจะประมาณไหน หรือจะใช้ all-in-one ไว้ร่างไอเดียคร่าวๆ ก่อนก็ได้

ทีนี้ถามว่า all-in-one จะเริ่มจากไหนดี ผมมีทางเลือกที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับคนที่เริ่มต้นทำเพลงมาแนะนำครับ (แนะนำเฉยๆ นะ ผมไม่ได้ค่าโฆษณา)

1. Eastwest Composer Cloud - เป็นบริษัททำ sample library ที่อยู่มานานมาก มีซอฟต์แวร์ sampler เป็นของตัวเองชื่อว่า PLAY เอาไว้รันเสียงของ Eastwest โดยเฉพาะ ล่าสุด (ตั้งแต่ 2015) มีบริการ Composer Cloud ให้ลูกค้าจ่าย $20/เดือน (ราวๆ 700 บาท/เดือน) เพื่อใช้ Sample Library ทุกอย่างที่ Eastwest มี อันนี้แนะนำมากๆ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะทำเพลงแนวไหนดี ยังไม่อยากลงทุนเยอะ แต่อยากจะลองนู่นลองนี่ก่อน ข้อเสียก็คือพอหยุดจ่ายก็ใช้ต่อไม่ได้ (แหงล่ะ) ส่วนคุณภาพของเสียงก็ค่อนข้างดีคุ้มราคา

2. Spitfire Albion ONE - บริษัททำ Sample Library สัญชาติอังกฤษที่มาแรงที่สุดในวงการ film scoring ตอนนี้ เจ้า Albion ONE เพิ่งครบรอบ 10 ปีไปเมื่อไม่นานมานี้ เป็นแพ็ครวมเสียงทุกอย่างสำหรับการทำ modern film scoring (ออเคสตราวงใหญ่ๆ, เครื่องกระทบหนักๆ, synth, sound design) เคยได้ยินคนจาก spitfire บอกว่าไอเดียหลักของ Albion คือเอาเสียงที่ใช้บ่อยๆ ในการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ยุคปัจจุบันมาแพ็ครวมกันเป็นชุด ราคาอยู่ที่ $449 (ราวๆ 16,000 บาท)

3. Native Instruments Komplete 12 - บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ผลิตซอฟต์แวร์ sampler ชื่อ Kontakt ซึ่งฮิตที่สุดในโลก การมี Kontakt เอาไว้ครอบครองทำให้สามารถซื้อ Sample Library ของบริษัทอื่นๆ อีกเพียบมาใช้ได้ เพราะใครๆ ก็ผลิต sample library ออกมาเพื่อรันบน kontakt (รวมถึง Spitfire จากข้อ 2 ด้วย) ส่วนเจ้า Komplete ก็คือการเอา Kontakt และ plugins อื่นๆ ของ Native Instruments จำนวนมากมาขายรวมกันเป็นชุด (ส่วนมากจะหนักไปทาง electronic) ถ้าจะซื้อแนะนำ Komplete 12 ขึ้นไป ($599 = 20,000 บาท) เพราะถ้าซื้อตัวเริ่มต้น (Komplete Select) จะไม่ได้ Kontakt ตัวเต็มมา

4. Orchestral Tools Inspire - บริษัทนี้มาแรงพอๆ กับ Spitfire แต่เป็นผู้ผลิตจากเยอรมัน เจ้า Berlin Inspire นี้ก็เป็นแพ็คเริ่มต้นสำหรับทำดนตรีออเคสตรา อัดเสียงที่ Teldex Recording Studio มิกซ์เสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้ ราคาอยู่ที่ $199 (ราวๆ 7,000 บาท) รันบน Kontakt เหมือนกัน

5. VSL Smart Orchestra - Vienna Symphonic Library เป็นบริษัทแรกๆ ที่เริ่มทำ Sample Library โดยยุคเริ่มแรกจะบันทึกเสียงเครื่องดนตรีคลาสสิกทุกเครื่อง ทุก articulations ที่จินตนาการได้ ใน silent stage ทำให้ได้เสียงที่เงียบ ไม่มีการสะท้อนของห้อง และสามารถปรับตัวเข้ากับ mix อื่นๆ ได้แต่ต้องใช้ความสามารถในการ mix สูง แต่ล่าสุดบริษัทนี้เริ่มหันไปทำออเคสตราที่เสียงดีพร้อมใช้งานโดยอัดเสียงใน Synchron Stage Vienna โดย Vienna Smart Orchestra นี้ก็เป็นผลผลิตนึงของ Synchron Series ใหม่ที่เสียงดีพร้อมใช้งานเช่นกัน โทนเสียงจะเนียนๆ เรียบร้อยๆ เหมาะกับดนตรีคลาสสิกเป็นพิเศษ รันบน Synchron Player ซอฟแวร์เฉพาะของ VSL ครับ (€175 = 7,000 บาท)

ก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังสนใจซื้อหรือสะสม Sample Library ไว้สำหรับทำเพลงนะครับ ถ้ามีอะไรก็ถามไว้ใน comment ได้เลย แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ

 

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

3,838 views
bottom of page