top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

"Ghostwriter" บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของดนตรีประกอบภาพยนตร์


คุณคิดว่า การจะเคลมว่าผลงานสักชิ้นนึงเป็นผลงานของเรา เราต้องมีส่วนร่วมในผลงานนั้นกี่เปอร์เซ็น? ต้องทำเองทั้งหมด? หรือต้องทำครึ่งนึงขึ้นไป? แล้วถ้าทำน้อยกว่าครึ่งเรายังเคลมว่าเป็นผลงานตัวเองได้อยู่มั้ย?

ถ้าเพื่อนๆ เคยนั่งดูเครดิตท้ายภาพยนตร์ คงจะเคยเห็นเครดิตรายชื่อผู้มีส่วนร่วมในการผลิตที่ยาวเหยียด บางเรื่องนั่งดูเครดิตตั้งนานก็ยังไม่จบ ผมเองก็เป็นคนนึงที่ชอบรอดูรายชื่อฝ่ายทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ แล้วก็มักจะได้เห็นชื่อตำแหน่งต่างๆ เต็มไปหมด - เช่น Composer, Assistant Composer, Arranger, Orchestrator, Copyist, Fixer, Musicians, Conductor, Sound Engineer, Music Editor

ในบทความนี้ผมไม่ได้จะมาอธิบายว่าตำแหน่งไหนทำหน้าที่อะไรบ้าง แต่เราจะมาเจาะลึกตำแหน่งที่ทุกคนมักจะสนใจที่สุด นั่นก็คือตำแหน่ง Composer

คุณคิดว่า Composer ที่คุณเห็นรายชื่อปรากฏบนจอนั้น เขาต้องทำอะไรบ้าง? ต้องแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ทั้งหมดเองกับมือทุกคิว ทุกโน้ตจริงๆ รึเปล่า? ถ้าคุณตอบว่าใช่ ลองอ่านต่อดูก่อน เพราะในบทความนี้ผมจะพูดถึงการ Ghostwriting ซึ่งถ้าคุณไดัอ่านจนจบ มันอาจจะเปลี่ยนความเข้าใจเดิมๆ ของคุณไปเลยก็ได้

Ghostwriting คืออะไร?

นิยามของ Ghostwriting ตามดิกชันนารีคือ “บุคคลที่เขียนงานและใส่ชื่อคนอื่นให้รับเครดิตเป็นผู้เขียนแทน” ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่าคุณเป็น composer วันนึงมีคนมาจ้างคุณทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ แล้วคุณก็ไปหาคนอื่นมาทำแทนคุณ โดยที่คนๆ นั้นไม่ได้เครดิตอะไรเลย ได้รับแต่ค่าจ้าง พอทำเสร็จ ตัวเครดิตหนังจบก็มีแต่ชื่อคุณคนเดียว คนที่มาทำงานให้คุณนั้นเรียกว่า Ghostwriter และการทำงานแทนแบบไม่ได้เครดิตนี้เราเรียกว่าการ Ghostwriting

กรณีศึกษา - สถาปนิก Frank Gehry

ก่อนจะด่วนตัดสินว่าการ Ghostwriting มันถูกหรือผิด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เราต้องย้อนกลับไปที่คำถามเดิมก่อนว่า คนเราต้องมีส่วนร่วมในงานชิ้นนึงมากแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นงานของเราได้? เราลองมาหาคำตอบจากกรณีศึกษาของสถาปนิก Frank Gehry ผู้ออกแบบ Walt Disney Concert Hall กัน

ในปี 1987 Disney ได้จ้าง Frank Gehry ให้ออกแบบคอนเสิร์ตฮอลใน Los Angelis ปัจจุบันมันเป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงามมากๆ หน้าตาเป็นแบบนี้:

ทีนี้ถามว่า Frank Gehry ต้องทำอะไรเองบ้างถึงจะได้เครดิตเป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมนี้:

- เขาสร้าง concert hall นั้นขึ้นมาเองกับมือรึเปล่า? เปล่า..

- ตอนที่ก่อสร้าง เขายืนคุมอยู่ตลอดมั้ย? ก็ไม่..

- เขาเขียนแผนผังก่อสร้างรึเปล่า? จัดสรรงบประมาณเองรึเปล่า? เปล่าเลย..

- เขาทำกราฟฟิก mockup ของตึกนั้นเองรึเปล่า? ก็ไม่ได้ทำ..

แม้แต่ผนังภายนอกของอาคารที่เป็นเหล็กสีเงินขัดเงา ก็ไม่ใช่ไอเดียเขาด้วยซ้ำ!

“อ้าว แบบนี้จะถือว่าเป็นผลงานของ Frank Gehry ได้ยังไง?”

เรื่องของเรื่องก็คือ Walt Disney ชอบผลงานที่ Frank Gehry เคยไปออกแบบพิพิฒภัณฑ์ Guggenheim Museum ในเมือง Bilbao ประเทศสเปน ก็เลยจ้างให้เขาทำคอนเสิร์ตฮอลที่หน้าตาคล้ายๆ กันอีกแห่งนึงใน LA พูดง่ายๆ คือขอให้เขาลอกงานเก่าของตัวเอง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เจ้า Guggenheim Museum ในสเปนนั้น เขาก็ทำแค่วาดภาพสเก็ตช์คร่าวๆ ขึ้นมา แล้วส่งสเก็ตช์นั้นไปให้ทีมงานฝีมือดีของเขาเนรมิตให้กลายเป็นพิพิฒภัณฑ์ที่สวยงาม การก่อสร้างแล้วเสร็จทันเวลา และทุกอย่างอยู่ในงบที่กำหนดไว้

“แล้วแบบนี้เรายังถือว่า Frank Gehry เป็นคนสร้าง Walt Disney Concert Hall (LA) ได้หรอ ในเมื่องานกว่าครึ่งเป็นของทีมงาน?”

ได้สิ..! เพราะถ้าไม่มีภาพสเก็ตช์ของ Frank Gehry อันนั้น ก็ย่อมไม่มีพิพิฒภัณฑ์ Guggenheim ถ้าไม่มีพิพิฒภัณฑ์นั้น Walt Disney ก็คงไม่ไปจ้างเขาทำ Concert Hall ที่หน้าตาคล้ายคลึงกันแบบนี้ ถึงแม้เขาจะเขียนแค่สเก็ตช์คร่าวๆ ออกมาแต่ทุกคนในทีมเขาช่วยกันใช้ความรู้ความสามารถและแรงงาน เพื่อสานต่อไอเดียนั้นจนออกมาเป็นสิ่งก่อสร้างได้สำเร็จ ในเมื่องานทำกันเป็นทีม ถ้าไม่ให้เครดิตหัวหน้าทีมอย่าง Frank Gehry จะไปให้เครดิตใครล่ะ

ที่ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาเพราะว่าการก่อสร้างกับการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มันมีความคล้ายคลึงกันอยู่ คือมันเป็นงานใหญ่ที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน จนบางทีเราอาจจะคาดหวังให้คนๆ เดียวเริ่มทำทุกอย่างจากศูนย์จนเสร็จไม่ได้

Film Composer ต้องทำอะไรบ้าง?

ทีนี้กลับมาที่ดนตรีประกอบภาพยนตร์ การจะทำซาวด์แทร็กหนังซักเรื่องนึงในระดับมืออาชีพ มันต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง..? เยอะมากนะ โดยเฉพาะถ้าทำงานกับนักดนตรีจริงๆ ไหนจะต้องแต่งทำนองธีม, ทำพาร์ทแอคคอมฯ, เรียบเรียง, ออร์เคส, ทำโน้ตพาร์ทให้เครื่องดนตรีต่างๆ, หาและจัดคิวนัดหมายนักดนตรี, ซ้อมและบรรเลง, คอนดักต์, อัดเสียงเป็นแทร็กต่างๆ, เอาดนตรีไปใส่เข้ากับภาพ, จดคอมเม้นท์จากผู้กำกับแล้วเอามาปรับแก้, มิกซ์เสียง, ฯลฯ

เราจะเห็นได้ว่า “การแต่งเพลง” จริงๆ มันเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนนึงของกระบวนการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ทั้งหมด (ก็เหมือนกับการทำภาพสเก็ตช์ของ Frank Gehry นั่นแหละ) แล้ว composer ก็ดูเหมือนจะต้องรับผิดชอบส่วนนี้เป็นหลัก แต่ส่วนที่เหลือนั้นเป็นงานอื่นๆ จำนวนมหาศาลที่ต้องใช้กลุ่มขนาดใหญ่เข้ามาช่วยกันทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า deadline มันสั้นมากๆ แทบจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจบงานทั้งหมดคนเดียว ด้วยเหตุนี้ composer หลายๆ คนจึงจำเป็นต้องมีทีมงานเป็นของตัวเอง เพื่อจะได้ส่ง sketch ไปให้ (เช่นทำนองธีมต่างๆ) แล้วมีคนช่วยกันเนรมิตมันออกมาเป็นซาวด์แทร็กได้ทันเวลา มีคุณภาพ และเป็นที่น่าพอใจ

แล้วก็ไม่จำเป็นว่า composer จะต้องสเก็ตช์เองทุกคิวด้วยนะ สมมุติว่าในหนังเรื่องนึง มีคิวดนตรีที่ต้องแต่งทั้งหมด 30 คิว ตัว composer อาจจะแต่งเองจริงๆ แค่ 12 คิวสำคัญๆ แล้วที่เหลือเป็น ghostwriter มาช่วยทำก็ได้ ในบางกรณีบริษัทผลิตภาพยนตร์ก็จำเป็นต้องใช้ชื่อของ composer ที่มีชื่อเสียงเพื่อให้สามารถขายอัลบัมซาวด์แทร็กได้มากขึ้น หรือเพื่อให้สามารถขอเงินทุนในการสร้างหนังได้มากขึ้น บริษัทอาจจะบอกกับนายทุนว่า composer คนนี้เป็นคนทำดนตรีประกอบคนเดียว แต่ความจริงอาจจะมีอีกหลายคนช่วยกันแต่งก็ได้ ยิ่งในฐานะคนดู คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคิวไหนใครเป็นคนแต่ง แต่งทำนองอย่างเดียวหรือคอร์ดด้วย ออร์เคสเองมั้ย ตัดต่อดนตรีเข้ากับภาพเองด้วยรึเปล่า

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการ Ghostwriting

จริงๆ แล้ว การ ghostwriting มันก็มีข้อดีหลายอย่างนะ เพราะนอกจากมันเป็นการเปิดโอกาสให้ ghostwriter หน้าใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงได้เรียนรู้และหาประสบการณ์จากการทำงานให้ composer ใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงแล้ว ผลงานที่ดีก็ยังจะทำให้ ghostwriter เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการดนตรีประกอบภาพยนตร์อีกด้วย พอเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการ ก็อาจจะได้รับการแนะนำบอกต่อ และมีโอกาสที่จะผันตัวมาเป็น composer ได้เองในที่สุด

ที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา ไม่ได้อยากให้ผู้อ่านรู้สึกอคติกับ composer ที่ใช้ ghostwriter แต่อย่างใด แต่แค่ต้องการลบความเข้าใจเดิมๆ ว่า composer คนเดียวเป็นคนทำดนตรีประกอบของหนังทั้งเรื่องเสมอ คือมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป เบื้องหลังชื่อ composer ที่คุณเห็นมันอาจจะมีคนอยู่บางส่วนที่ได้รับหรือไม่ได้รับเครดิตก็ได้

ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเปิดใจยอมรับเรื่องนี้ เพราะการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ในปัจจุบันมันเริ่มเปลี่ยนไปจากการเขียนซิมโฟนี่ซักบทนึงในอดีต เดี๋ยวนี้เราไม่ได้จบงานได้โดยการเขียนสกอร์ให้เสร็จแล้วเอาไปยื่นให้ออเคสตราบรรเลงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ตาม composer ในอดีตหลายๆ คนก็ยังใช้เวลาเป็นปีๆ ในการเขียนซิมโฟนี่ซักบทเลย แล้วถ้าขั้นตอนมันซับซ้อนขึ้น แล้วต้องทำให้เสร็จภายในเวลาไม่กี่เดือน หรือไม่กี่สัปดาห์ล่ะ? ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การทำดนตรีประกอบภาพยนตร์กลายเป็นงานสเกลใหญ่ เดดไลน์โหด ที่ต้องการ teamwork ที่ดี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกอย่าง คนดูอย่างเราๆ ก็คงไม่ได้แคร์หรอกว่าใครเป็นคนเขียนโน้ตตัวไหน บางทีหนังจบเราก็ลุกออกจากโรงเลยด้วยซ้ำ แต่ที่เราแคร์คือคุณภาพของดนตรีประกอบที่เสร็จออกมาว่ามันดีมั้ย ซัพพอร์ทเรื่องราวมั้ย ช่วยให้เขารู้สู้สึกบรรยากาศของฉากต่างๆ เข้าถึงอารมณ์ของตัวละครหลักได้มากขึ้นมั้ย เรื่องพวกนี้ต่างหากที่คนดูให้ความสำคัญ

 

Reference:

Christian Henson Music. #61 Ghostwriting. https://youtu.be/b6yQok8jWZQ

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

https://www.facebook.com/pongsathornposayanonth/

712 views

Comments


bottom of page