top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

สายฟรีห้ามพลาด! แนะนำซอฟต์แวร์ทำเพลงที่หาโหลดได้ฟรีในปี 2019


สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกคนนะครับ ในบทความก่อนๆ ผมเคยเขียนแนะนำซอฟต์แวร์ทำเพลงและ sample library ที่เหมาะสำหรับมือใหม่ไปแล้ว หลายๆ คนสนใจแต่ก็อาจจะยังรู้สึกว่าราคาสูงเกินงบไปหน่อย ผมเลยลองไปหาข้อมูลดูว่าซอฟท์แวร์อะไรบ้างที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีแบบถูกลิขสิทธิ์ ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ถูกใจผู้อ่านหลายๆ คนนะครับ

ผมขอแบ่งบทความนี้ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ละกัน ส่วนแรกคือซอฟต์แวร์ทำเพลงหรือที่มีชื่อเต็มว่า “Digital Audio Workstation” ใช้สำหรับอัดเสียง, เขียน MIDI, มิกซ์เสียง ฯลฯ และส่วนที่สองคือ “Sample Library” ซึ่งเป็นตัวเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เอาไว้ใส่ในเพลง เพื่อไม่ให้เสียเวลาเราไปเริ่มกันที่ส่วนแรกเลยครับ

DAW: Digital Audio Workstation

1. Garage Band

สำหรับหลายๆ คนที่มีคอมพิวเตอร์ของ Apple ก็จะได้รับ Garage Band แถมมาในเครื่องอยู่แล้ว ซึ่งเจ้า Garage Band นี้คือเวอร์ชั่นฟรีของ Logic Pro X ซึ่งเป็น DAW ระดับมืออาชีพที่กำลังเป็นที่นิยมที่สุดตัวนึง

ถึงแม้ Garage Band จะถูกตัดฟีเจอร์หลายๆ อย่างออกเช่นหน้า Mixer, Flex, Automation, ฯลฯ แต่ Garage Band ก็ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการหัดทำเพลงและเขียน MIDI เนื่องจากความง่ายในการใช้งานของมัน แค่ลองเปิดโปรแกรมขึ้นมา ดึง Apple Loop กลองมาสักอันนึง แล้วแต่งคอร์ดกับทำนองเสริมเข้าไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ทำเพลงได้มานาทีนึงแล้ว

2. Pro Tools First

เวอร์ชั่นฟรีของซอฟต์แวร์ “Pro Tools” จากค่าย Avid ที่นิยมใช้กันในสตูดิโออัดเสียงชั้นนำทั่วโลก รองรับสูงสุดที่ 16 Audio Tracks และ 16 MIDI Tracks ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับคนที่หัดทำเพลงใหม่ๆ ใครสนใจก็ไปสมัคร account และดาวน์โหลดฟรีได้ที่เว็บไซต์ https://bit.ly/2Vns4PX

3. Cubase LE

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงของ Cubase ของทาง Steinberg มาแล้ว เพราะเป็น DAW ที่อยู่มานานมากๆ และเพิ่งอัพเดทเวอร์ชั่น 10 มาเมื่อไม่นานมานี้ แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเจ้าซอฟต์แวร์นี้มีเวอร์ชั่นฟรีที่เรียกว่า Cubase LE เปิดให้ดาวน์โหลดอยู่ด้วยนะ โดย Cubase LE จะรองรับสูงสุดที่ 24 MIDI Tracks, 16 Audio Tracks, และสามารถบันทึกเสียงได้ที่ความละเอียดสูงสุด 24-bit/192 KHz

นอกจากนี้มันยังมาพร้อมกับ Sample Library ฟรีชื่อว่า HALion Sonic SE 2 และ plugins พื้นฐานฟรีอีก 18 ตัวเช่น EQ, Compressor, และ Delay ซึ่งมีประโยชน์มากๆ ในการมิกซ์เพลง ใครสนใจก็เข้าไปดาวน์โหลดฟรีที่เว็บไซต์ https://bit.ly/2AZwBBY

4. Cakewalk Sonar Platinum

เมื่อเมษายนปีที่แล้ว (2018) ทาง Bandlab ได้ประกาศเปิดให้ซอฟต์แวร์ Cakewalk SONAR Platinum สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีๆ ซึ่งมูลค่าเดิมของซอฟต์แวร์นี้คือราวๆ $600 (ราวๆ 20,000 บาท) ซึ่งตัวฟรีนี้มีฟีเจอร์เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ข้อเสียคือสามารถใช้ได้เฉพาะบนระบบปฏิบัติการณ์ Windows เท่านั้น สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ https://bnd.la/2K9Fbii

5. Studio One Prime

ซอฟต์แวร์ทำเพลงหน้าใหม่อย่าง Studio One จาก PreSonus ที่เพิ่งออกเวอร์ชั่น 4 มาเมื่อปีที่แล้ว ก็ออกเวอร์ชั่นฟรีที่ชื่อว่า Studio One 4 Prime มาให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้เช่นกัน ซึ่งก็จะคล้ายๆ เจ้าอื่น คือเป็นตัวที่ถูกตัดฟีเจอร์หลายๆ อย่างออก แต่ก็ยังเป็น DAW ที่น่าสนใจอยู่ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/2F4zOlB

6. Ableton Live 9 Lite

Ableton Live เป็นซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนทำดนตรี electronic ส่วนเจ้าเวอร์ชั่นฟรีหรือ “Lite” นี้มาพร้อมกับ plugins ต่างๆ อาทิ EQ, compressor, delay, reverb, และ analog filter emulator พร้อมทั้ง software instruments ต่างๆ เช่น drum rack, impulse, simpler อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าสามารถโหลดฟรีได้เลยหรือจะแถมมากับ hardware นะครับ ถ้าใครสนใจลองเข้าไปลองดาวน์โหลดดูที่ https://bit.ly/1qJ3X7V

Sample Libraries

1. Kontakt 6 Player

ต้องบอกก่อนว่า Sample Library ทั้งที่แจกฟรีและที่ขายส่วนมากจะรันบน Kontakt เพราะฉนั้นหากใครยังไม่มี Kontakt แนะนำให้รีบไปโหลด Kontakt 6 Player มาใช้ก่อนเลย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ https://bit.ly/2AsxtvX

เจ้า Kontakt 6 Player นอกจากจะให้โหลดฟรีแล้ว ยังมาพร้อมกับเสียงประมาณ 50 เสียงทั้ง band, synth, urban beats, vintage, และ world libraries ให้นำไปใช้กันได้ฟรีๆ อีกด้วย

2. Embertone’s Freebies

Embertone เป็นเว็บขาย Sample Library ที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีบางตัวแจกฟรีด้วย ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ https://bit.ly/2F7mXxh แล้วเปลี่ยนตรง Sort > Price เป็น Free เท่านี้เราก็จะมองเห็นเฉพาะของแจกฟรีแล้ว มีทั้งเสียง choir, recorder, string quintet, และเสียงแปลกๆ อีกจำนวนนึงให้เลือกดาวน์โหลดกัน

3. Spitfire Audio’s LABS

Spitfire เป็นบริษัททำ Sample Library สัญชาติอังกฤษที่กำลังมาแรงมากๆ และสินค้าส่วนมากจะมีราคาค่อนข้างสูงเช่น Albion ONE ($449), หรือ Hanz Zimmer Strings ($799) แต่บนเว็บไซต์ก็มี tab เล็กๆ ซ่อนอยู่ชื่อว่า “LABS” ซึ่งพอคลิกเข้ามาก็จะพบกับขุมทรัพย์ Sample Library จำนวนนึงที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรี เช่น frozen strings, synth pads, choir, electric piano, amplified cello, drums, soft piano, ฯลฯ ใครสนใจก็ลองเข้าไปดาวน์โหลดที่ลิ้งค์ https://bit.ly/2CNfmiQ ได้เลย

4. Audioplugin Deals, VST Buzz, Kontakt Hub

ปิดท้ายด้วย 3 เว็บไซต์รวมดีลลดราคาหนักๆ จากบริษัททำ Sample Library ทั้งรายใหญ่รายย่อยต่างๆ ซึ่งบางทีก็จะมีของฟรีหลุดมาให้เห็นบ้าง แต่บางอันถึงไม่ฟรีก็ลดแล้วลดอีกจนถูกมากๆ $5 - $10 ก็มี ส่วนเรื่องคุณภาพก็คละๆ กันไปครับ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละราย เพราะทั้ง 3 เว็บไซต์นี้เป็นเพียงตลาดกลางที่รวบรวมดีลจากผู้ผลิตต่างๆ อีกทีนึง ใครสนใจแนะนำให้ลองหาตัวอย่างฟัง หรือหารีวิวอ่านดูก่อนตัดสินใจซื้อนะครับ

- Audioplugin Deals: https://audioplugin.deals

สรุป

อ่านมาถึงจุดนี้ ทุกๆ คนคงเห็นแล้วว่าในปี 2019 นี้มีซอฟต์แวร์ทำเพลงฟรีและ Sample Library ฟรีออกมาให้เลือกดาวน์โหลดในเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย ถือเป็นยุคที่ใครๆ ก็สามารถเริ่มหัดทำเพลงได้โดยไม่ต้องลงทุนสูงอย่างที่คิด ถึงของฟรีจะมีข้อจำกัดมากกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าใช้ของฟรีแล้วจะทำเพลงดีๆ ไม่ได้

สำหรับซอฟต์แวร์ทำเพลง (DAW) นั้น สรุปว่าซอฟต์แวร์ฟรีที่มีฟีเจอร์ครบครันที่สุดขณะนี้ได้แก่ Cakewalk SONAR ในขณะที่ผู้ผลิต DAW ระดับมืออาชีพรายอื่นๆ ก็ออกเวอร์ชั่นทดลองของตัวเองมาให้ลองใช้กันฟรีๆ อย่างเช่น Garage Band, Pro Tools First, Cubase LE, Studio One Prime, Ableton Live Lite ผมแนะนำว่า ถ้าสนใจตัวไหนก็ลองโหลดมาใช้กันดูก่อน แล้วถ้าใช้แล้วถูกใจค่อยอัพเกรดเป็นแบบจ่ายเงินทีหลังก็ได้ครับ

สำหรับ Sample Library ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี ซึ่งผมเชื่อว่าจริงๆ มีมากกว่าที่ผมรวบรวมไว้ในบทความนี้นะ ลองเริ่มจากไปโหลด Kontakt Player มาก่อนแล้วค่อยๆ หาเพิ่มตามที่ต้องการ หรือจะค้นหาด้วย google ก็ได้ เช่น ลองค้นหาว่า free piano library kontakt เป็นต้น ลืมบอกไปว่า Sample บางตัวก็สามารถรันบน Kontakt Player ได้ แต่บางตัวก็ต้องรันบน Kontakt ตัวเต็ม เพราะฉนั้นต้องดูดีๆ ก่อนซื้อนะ

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่กำลังคิดอยากเริ่มหัดทำเพลงนะครับ ถ้าชอบบทความนี้ หรือสนใจเรื่องการทำเพลง การทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ ก็อย่าลืมตามมากด Like เพจของผมได้ที่ https://bit.ly/2BWoCmg เพื่อนๆ จะได้ไม่พลาดบทความอื่นๆ ในอนาคตครับ

ขอบคุณที่อ่านมาจนจบและสวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ

 

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

4,873 views
bottom of page