top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

เลือกที่เรียนดนตรีอย่างไรให้ 'ปัง' !


เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยประสบปัญหา (หรือกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับ) การเลือกที่เรียนมาแล้วไม่มากก็น้อยนะครับ การเลือกที่เรียนให้ตอบโจทย์เรามากที่สุด แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่เราจะมานั่งเล่นเสี่ยงทายส่งๆ เพราะว่าหากเลือกผิด เราอาจต้องทนเรียนไปอย่างทุกข์ระทมอีกหลายปี หรืออาจต้องดร็อปออกมา เสียเวลาชีวิตไปเปล่าๆ ครับผม ^-^

ผมไม่ขอเจาะจงไปละกันว่าเป็นการเลือกที่เรียนในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะผมคิดว่าหลักการที่จะนำเสนอนี้ใช้ได้กับทั้งคู่ (แต่พูดจริงๆ ถ้าไปเรียนต่างประเทศได้ก็ไปเถอะครับ ประสบการณ์ที่ได้มันจะเป็นอะไรที่เฉพาะตัวจริงๆ นะ)

แต่ผมขออนุมานว่า คนที่อ่านบทความนี้คงได้ตัดสินใจไปแล้วว่าอยากเรียนดนตรีเป็นสาขาหลัก แต่แค่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปเรียนไหนดี เพราะถ้ายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเรียนดนตรีเป็นเมเจอร์ บทความนี้อาจจะยังไม่ ‘ปัง’ กับวัตถุประสงค์ของคุณนะครับ :)

พล่ามมานานพอควร เข้าเรื่องเลยดีกว่า

1. ถ้ารู้ตัวตั้งแต่แรกว่าชอบผลงานหรือเทคนิคการสอนของอาจารย์คนไหน ให้ลองสืบดูว่าอาจารย์เหล่านั้นประจำอยู่ ณ สถาบันใด - อันนี้ควรเป็นสิ่งแรกๆ ที่เข้ามาในการตัดสินใจครับ สาขาดนตรีโดยเฉพาะ performance, composition, และ conducting ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์นั้นสำคัญอย่างมาก ถ้าเป็นไปได้ ลองขอทดลองเรียนกับอาจารย์ที่เล็งๆ ไว้เป็นการส่วนตัวสักครั้งสองครั้ง ก็จะเริ่มรู้ว่า เราคลิกกับเขารึเปล่า ลองคุยกับลูกศิษย์ปัจจุบันของพวกเขาว่าคิดว่าอาจารย์เป็นยังไงบ้าง ประมาณนี้ครับ แต่อย่าเลือกอาจารย์ที่ความชิล หรือความง่ายของเกรด เพราะเราไปเรียนเอาความรู้ครับ ไม่ได้เรียนเพื่อเอาเกรดมาเบ่งข่มใส่กัน

2. ไปดูสถานที่เลย! - ตอนผมเลือกว่าอยากเรียนที่ไหน ผมทำ shortlist เอาไว้จำนวนหนึ่ง และไล่ตามไปดูทีละแห่งๆ เลยครับ ว่าที่ไหนเวิร์คมากที่สุดกับตัวเรา อันนี้ sense ของเราน่าจะบอกได้ดีว่า เราจะโอเคกับที่ไหนมากกว่ากัน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาจจะเป็นไปได้ยากหน่อย แต่ถ้าทำได้ อยากให้เราบินไปดูมหาวิทยาลัยและคุยกับอาจารย์ถึงที่ เชื่อว่าคุ้มครับ เพราะยิ่งมหาวิทยาลัยเมืองนอก ถ้าเลือกผิดนี่ยิ่งเปลี่ยนที่เรียนยาก (บางทีมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งจะมี open day เป็นทางการครับ ถ้าไปในวันพวกนี้ได้จะยิ่งดีเพราะจะมีบุคลากรของคณะนั้นๆ นำทัวร์ดูสถานที่และตอบคำถามเราโดยเฉพาะ)

3. คณาจารย์คนอื่นๆ - อย่าไปหลงเชื่อตำแหน่งวิชาการครับ เวลาพิจารณาเลือกที่เรียน ให้ดูผลงานของอาจารย์เหล่านั้นเป็นหลัก เขาดังในระดับ local หรือดังระดับ international ผลงานของเขามีการอ้างอิงเอกสารตำราจากนักวิชาการต่างชาติที่มีชื่อเสียงหรือไม่ หรือมีแต่การนั่งเทียนเขียน ‘กฎ’ ขึ้นมาเอง และที่สำคัญ เขาจบสาขาใด จากที่ใดมา อย่าลืมว่าการจบนอก ไม่ได้แปลว่าดีเลิศเสมอไป เพราะมหาวิทยาลัยประเภท ‘จ่ายครบ จบแน่’ ในเมืองนอก ก็มีให้เห็นเกลื่อนกลาด ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มองข้ามตำแหน่งและรางวัลทั้งหลายไป และดูกันที่ผลงานจริงๆ ครับ

หลายคนบอก ถ้าอาจารย์สกิล หรือที่ปรึกษาหลักดี ก็พอแล้วไม่ใช่หรือ ขอตอบว่า พอ สำหรับปริญญาเอกเท่านั้นครับ ถ้าระดับอื่นๆ คือไม่พออย่างแรง เพราะถ้าเหตุผลที่เราเลือกมาเรียนดนตรีเป็นเพราะว่าเราต้องการเป็นนักดนตรีที่พร้อมมากขึ้น เราก็ควรจะเลือกที่ๆ จะสามารถพัฒนาเราทั้งด้านสกิลในด้านที่เราต้องการพัฒนา และด้านสติปัญญาครับ

4. ความพร้อมของ resource - อันนี้ยิ่งเรียนสูงยิ่งสำคัญครับ คำว่า resource ผมไม่ได้หมายถึงความอลังการของ concert hall หรือว่าสถาบันดนตรีนั้นๆ ต้องมีเปียโนเป็นร้อยๆ ตัว แต่ผมหมายถึง resource ที่จะทำให้คุณเติบโตในฐานะนักดนตรีที่ดีได้ หนังสือมีพอไหม สกอร์เพลง ซีดี สื่อวีดีทัศน์ล่ะ? แล้วกิจกรรมและโอกาสในการได้แสดงผลงานของคุณล่ะมีแค่ไหน เวิร์คช็อป มาสเตอร์คลาส การประชุมทางวิชาการ (แบบที่มีสาระจริงๆ) มีบ้างมั้ย? พวกนี้คือ resource ที่ผมพูดถึง... อ่อ แถมให้อีกอัน แล้วทรัพยากรบุคคลล่ะเป็นยังไง อาจารย์มีแก่จิตแก่ใจสอนหรือไม่ หรือถนัดเดินเล่นเฉิดฉายในแคมปัสมากกว่า ของพวกนี้ถ้าจะสืบกันจริงๆ ก็ไม่ยากนักหรอกครับ ลองไปสำรวจสถานที่หรือถามนักศึกษาปัจจุบันดูก็รู้

5. Ranking - การจัดอันดับมหาวิทยาลัย และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม แต่เราก็ไม่ควรจะยึดติดกับมันครับ แนะนำว่า เอามาดูประกอบการตัดสินใจเป็นพอ แต่อย่าลืมเช่นกันว่า สถานที่ๆ เราเลือก จะสะท้อนความเป็นตัวเราไปตลอด เพราะฉะนั้น เลือกให้ดีๆ ครับ ถ้าไม่แน่ใจว่าควรดูที่ไหน ลองเริ่มที่ World University Rankings อย่างพวก QS หรือ Times Higher Education ก็ได้ครับ ควรดูว่า criteria ที่เขาใช้ ตอบโจทย์เราหรือไม่ และลองดู Regional Rankings ควบคู่กันก็เป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะบางที่ ในบางสาขา บางมหาวิทยาลัยอาจได้รับการยอมรับมากกว่าเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ถึงแม้ว่า overall ranking จะต่ำกว่าก็ตามครับ

6. Environment - ใช่ครับ สิ่งแวดล้อม ตอบตัวเองให้ได้ว่าเราโอเคกับสิ่งแวดล้อมและสังคมแบบนี้ไหม วัฒนธรรมองค์กรเข้ากับเราไหม ค่านิยมของสังคมนั้นๆ เป็นอย่างไร อันนี้อาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหน่อย แต่เราสามารถสังเกตได้จากการปฏิบัติตนของคนในองค์กรนั้นๆ ต่อกัน ว่าเป็นอย่างไร อาจารย์วางตัวเป็นกันเองแค่ไหนกับนักศึกษา (แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าความรู้ของอาจารย์สำคัญที่สุดนะครับ) และเช่นกัน เพื่อนในรุ่นเป็นยังไง พากันเรียนหรือพากันเจ๊ง แล้วรุ่นพี่ล่ะ ถนัดช่วยเหลือรุ่นน้องหรือถนัดวางอำนาจอ้างระบบ sotus ไปวันๆ เลือกให้ดีๆ นะครับ

7. ไม่มีที่ไหนเพอร์เฟค - ถึงแม้ว่าจะเลือกแล้วเลือกอีกยังไง ก็ขอบอกเลยครับว่าไม่มีที่ไหนเพอร์เฟค มันต้องมีสิ่งดีๆ และสิ่งแย่ๆ ในทุกๆ ที่ ทริคก็คือ ถ้าเราสามารถทดแทนสิ่งแย่ๆ ได้ด้วยตัวเอง (เช่น วิชา ensemble ไม่แข็ง ก็หาโอกาสเล่น ensemble กับเพื่อนๆ ให้มากขึ้นเอง) ก็ควรทำ แต่ถ้าช่วยไม่ได้จริงๆ ก็ต้องทำใจยอมรับครับ เพราะถ้าเราได้เลือกที่ๆ ปังกับเรามากที่สุด ณ เวลานั้นๆ แล้ว ก็อย่าเสียใจกับตัวเลือกนั้น และทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราให้ดีที่สุดก็แล้วกัน

โบนัส: อย่าเลือกที่เรียนที่โลเคชั่น หรือความโก้ของชื่อประเทศ - อันนี้เว้นแต่เราไม่พร้อมจริงๆ ที่จะออกไปอยู่ห่างบ้านห่างพ่อแม่ (เพราะแต่ละคนก็พร้อมไม่เท่ากันครับ) แต่ถ้าเป็นไปได้ อย่าเลือกที่เรียนที่โลเคชั่นของมหาวิทยาลัย หรือที่ความเก๋าของชื่อประเทศ ผมว่าโลกเราพัฒนาไปไกลพอที่จะบอกได้ว่า เรียนดนตรีคลาสสิก ไม่ต้องเฉพาะออสเตรียหรือเยอรมันเท่านั้น เพราะที่อื่นๆ ก็มีอยู่ทั่วโลกที่สามารถให้ความรู้ที่แน่นไม่ต่างกัน ทางที่ถูกคือ เลือกที่เรียนที่ถูกกับตัวเรา ที่เราสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข และที่ๆ จะสามารถพัฒนาเราให้เป็นนักดนตรีที่สมบูรณ์ขึ้นได้ครับ

อ่อ... แถมให้อีกนิดนึง โปรแกรมที่เรียน สำคัญกว่าสถานที่เรียนครับ มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปเรียนโปรแกรมที่เราไม่อยากไป แต่อยู่ในสถาบันดังๆ ที่คนอื่นต้องว้าว เพราะถ้ามองไปไกลๆ มันเท่ากับเราต้องจมอยู่กับของที่เราไม่ได้ชอบเต็มร้อยไปตลอดครับ ทางที่ดีคือเลือกโปรแกรมที่อยากเรียนก่อน แล้วดูว่ามีที่ไหนเปิดบ้างครับ

หวังว่าทิปเหล่านี้จะช่วยให้ตัดสินใจเลือกที่เรียนได้ง่ายขึ้นนะครับ สุดท้าย อย่าลืมมีแผนสำรองไว้เสมอครับ เพราะไม่ว่าเราจะมั่นใจขนาดไหน เราก็ไม่ควรประมาท และอย่าท้อกับการถูกปฏิเสธครับ เหตุผลที่เราถูกปฏิเสธอาจมีได้ร้อยแปด ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับตัวเราก็ได้ ขอให้ทำเต็มที่เป็นพอสำหรับของแบบนี้ บางที ความล้มเหลวอาจเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จในอนาคตก็ได้ ยังไงก็ขอให้ได้ที่เรียนที่ปังกับเรามากที่สุดนะครับ มีอะไรก็เขียนมาถามกันได้เลย ^-^

Choose wisely.

 

Supakorn Aekaputra

PhD Student in Music Theory

Faculty of Music, University of Cambridge

446 views
bottom of page