top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

เผย 6 ขั้นตอนในการทำเพลงอย่างมืออาชีพ!


เวลาคุณนั่งฟังเพลงโปรดของคุณ ไม่ว่าจะเป็นบน YouTube, Spotify, iTunes, หรือจากแผ่นซีดี เคยสงสัยกันมั้ยว่าเบื้องหลังของเพลงเพราะๆ ที่คุณชื่นชอบเหล่านี้มันมีขั้นตอนอะไรบ้าง? หรือถ้าคุณเป็นนักดนตรี เคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมคลิปที่คุณใช้มือถืออัดเสียงตัวเองเล่น cover เพลงสักเพลง แล้วโพสท์ลง Facebook คุณภาพเสียงมันถึงไม่ใส ไม่ไพเราะเท่าต้นฉบับ?

คุณอาจจะคิดว่า “ก็ใช้มือถืออัดมันจะไปเสียงดีเท่าไมค์แพงๆ ได้ยังไง” จริงอยู่ครับ ที่คุณภาพของไมค์มันก็มีผล แต่จริงๆ แล้วนั่นมันไม่ใช่สาเหตุหลักหรอก เพราะถึงเปลี่ยนจากมือถือเป็นไมค์ราคาแพง แต่คุณตั้งอัดแบบเดิมเป๊ะ คุณภาพเสียงมันก็ยังเทียบกับเพลงอื่นๆ ในท้องตลาดไม่ได้อยู่ดี

แล้วทำไมเพลงพวกนั้นถึงเสียงดีกว่า? ก็เป็นเพราะว่ามันผ่านกระบวนการ “โปรดิวซ์” หรือ Music Production มาตั้งหลายขั้นตอนก่อนจะมาถึงหูของคุณ ทำให้คุณภาพเสียงของเพลงเหล่านี้ไพเราะและคมชัดกว่าคลิปที่คุณใช้มือถืออัดเสียงตัวเองเล่นดนตรีหลายเท่านัก ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพล่ะก็ เพลงที่ผ่านการโปรดิวซ์ก็เหมือนกับนางแบบปกนิตยสารที่มีทั้งทีมสไตลิสท์, ช่างแต่งหน้า, แสงไฟสตูดิโอ, ช่างภาพ, และคนรีทัชรูปคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ในขณะที่คลิปที่คุณอัดเสียงตัวเองเล่นดนตรีเปรียบเหมือนกับผู้หญิงถ่ายรูปเซลฟี่ตัวเองหน้าสดลงเฟสบุค คือมันไม่ใช่แค่ใครสวยกว่าหรือกล้องใครดีกว่า แต่พอกระบวนการผลิตทั้งหมดมันต่างกันคุณภาพของงานมันก็เลยต่างกัน

ข่าวดีคือเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันมันเอื้อให้นักดนตรีสามารถ “โปรดิวซ์” เพลงของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อนาล็อกราคาแพงแบบเมื่อก่อนแล้ว จะเห็นได้ว่าในยูทูปเดี๋ยวนี้ก็มีวงดนตรี cover หลายวงที่ทำเพลงออกมาได้คุณภาพดีเทียบเท่าค่ายเพลงใหญ่ๆ เลย แต่นั่นก็แปลว่านักดนตรีจะต้องสละเวลาในการซ้อมดนตรีมาเรียนรู้เทคโนโลยีในการทำเพลงด้วย ซึ่งในบทความนี้ผมก็จะมาอธิบาย 6 ขั้นตอนหลักในการทำ Music Production เพื่อให้คุณพอเห็นภาพรวมกันว่า ก่อนจะมาเป็นเพลงสักเพลงนึง มันต้องผ่านขั้นตอนอะไรกันบ้าง ถ้าพร้อมแล้วเราไปเริ่มที่ขั้นตอนแรกกันเลยดีกว่า..

1. Composing / Sketching

ดนตรีเริ่มจากไอเดีย แต่ไอเดียนั้นจะกลายเป็นเพลงไม่ได้หากไม่มีการจดบันทึกไว้ ขั้นตอนแรกนี้คือการทำ sketch หรือจดไอเดียของคุณออกมา เริ่มจากการวางโครงสร้างก่อนว่าเพลงจะมีกี่ท่อน พอมีโครงสร้างแล้วก็ค่อยแต่งทีละ section ถ้าเป็นดนตรีคลาสสิกหรือดนตรีประกอบหนังอาจจะต้องใช้บรรทัดห้าเส้น ถ้าเป็นดนตรีป๊อปอาจจะเขียนเนื้อร้องและทำนองก่อน หรือถ้าเป็นเพลงคอฟเวอร์ก็ต้องการแกะคอร์ดแกะทำนองเพลงต้นฉบับก่อน ในขั้นตอนนี้ music composer จะใช้ซอฟต์แวร์บันทึกโน้ตอย่าง Sibelius, Finale, หรือ Dorico เข้ามาช่วยหรือจะเขียนลงกระดาษเฉยๆ ก็ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณจะต้องได้ sketch ของเพลงที่คุณจะทำ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักของดนตรีที่คุณต้องการ เช่น เนื้อร้อง ทำนอง คอร์ด จังหวะ โครงสร้าง และบันไดเสียง ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้

2. Arranging

ขั้นตอนการเรียบเรียง คือการนำ sketch ที่คุณได้จากขั้นตอนแรกมาเรียบเรียงให้กับเครื่องดนตรีต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าจะใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้าง แล้วจึงกำหนดว่าเครื่องดนตรีไหนจะเล่นอะไรและทำหน้าที่อะไรในท่อนต่างๆ ของเพลง ส่วนการเรียบเรียงสำหรับวงออเคสตราจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า orchestration ซึ่งหากเขียนให้วงออเคสตราจริงๆ บรรเลงก็ต้องมีการทำสกอร์หรือโน้ตดนตรีที่รวบรวมบทของทุกๆ เครื่องดนตรีในวงเอาไว้ด้วย ในขั้นตอนนี้อย่าลืมคิดด้วยว่าเครื่องดนตรีไหนจะบันทึกเสียง หรือเครื่องดนตรีไหนจะใช้ MIDI

3. MIDI Sequencing

ขั้นตอนนี้เป็นการนำสิ่งที่เรา arranged เอาไว้มาทำให้เป็นเสียงดนตรีด้วย samples และ synths ผ่านการป้อนข้อมูล MIDI แทนการอัดเสียงนักดนตรีจริง Samples คือไฟล์เสียงที่ได้มาจากการบันทึกเสียงจริงๆ จึงมักจะใช้เพื่อทดแทนการใช้นักดนตรีจริง เช่น การใช้ samples ของเสียงไวโอลินทั้ง section (สมมุติว่า 14 คน) แทนที่จะไปจ้างนักไวโอลินมา 14 คนเพื่ออัดเสียงในห้องอัดจริงๆ ส่วน Synths คือเสียงที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยมีสองส่วนหลักๆ ได้แก่ Oscillator (ตัวกำเนิดเสียงเช่นคลื่น sine, square, triangle) และ Modifier (เช่น Hi-pass filter, arpeggiator, ฯลฯ)

4. Recording

อันนี้เป็นขั้นตอนที่ทุกคนคงคุ้นเคยกันดี การอัดเสียงนักดนตรีจริง ซึ่งอาจจะอัดเสียงทั้งวงพร้อมกัน, อัดแยกเซคชั่นต่างๆ, หรืออาจจะอัดเสียงทีละคนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของ producer ซึ่งการอัดเสียงเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนที่สุดและต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยเช่น การเลือกไมโครโฟนที่เหมาะสม, ตำแหน่งวางไมโครโฟน, การสะท้อนเสียงของห้อง, ระดับ gain ที่เหมาะสม, ฯลฯ การอัดเสียงเป็นการทำงานกับมนุษย์ หากเกิดข้อผิดพลาดในการอัดเสียงที่ทำให้ไฟล์จาก session หนึ่งใช้ไม่ได้ คุณจะต้องเสียค่าเช่าสตูดิโอและค่าจ้างนักดนตรีใหม่ทั้งหมด แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือนักดนตรีชุดเดิมจะไม่มีทางเล่นออกมาได้เหมือนเดิม 100%

5. Mixing

หลังจากขั้นตอนที่ 3 และ 4, ตอนนี้ตรงหน้าคุณก็จะมีแทร็คเสียงต่างๆ เรียงรายอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียง samples จากผู้ผลิตต่างๆ, เสียง synths, และเสียงนักดนตรีที่คุณอัดมาจากห้องอัด พอลองเอาทุกๆ แทร็คมาเปิดพร้อมกันก็จะพบว่าเสียงมันตีกันมั่วไปหมดฟังไม่รู้เรื่อง.. นี่คือเวลาที่ขั้นตอนการมิกซ์เพลงเข้ามามีบทบาทสำคัญ การมิกซ์เพลงนั้นเบื้องต้นจะเริ่มจากการปรับระดับเสียงของทุกๆ แทร็คให้สมดุลย์และสัมพันธ์กัน และจะมีการใช้ Audio Processing Plugins ต่างๆ เช่น Compressor, EQ, Reverb เพื่อทำให้แทร็คต่างๆ มีพื้นที่เป็นของตัวเองในเพลง คำว่า “พื้นที่” ในที่นี้ผมเหมารวมถึงทั้งพื้นที่ทางซ้าย-ขวา ของลำโพงสองข้างในระบบ stereo, ทั้งพื้นที่ของความ ดัง-เบา ตามลำดับความสำคัญของเครื่องดนตรีต่างๆ ในเพลง, ทั้งพื้นที่ในแง่ของย่านเสียงสูง-ต่ำ, และทั้งพื้นที่ ใกล้-ไกล ที่แทร็คนั้นถูกวางอยู่ในมิกซ์ด้วย ในมิกซ์ที่ดีนั้นแทร็คต่างๆ จะต้องไม่ทับซ้อนกันจนฟังแยกชิ้นเครื่องดนตรีไม่ออก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วย

6. Mastering

ขั้นตอนสุดท้าย การ Mastering เป็นการนำเพลงที่คุณมิกซ์เสร็จแล้วมา process ครั้งสุดท้ายก่อนจะนำไปเผยแพร่ จุดมุ่งหมายของการทำ mastering คือการทำให้เพลงของคุณฟังเพราะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในทุกๆ platforms ไม่ว่าจะเป็นในสตูดิโอของคุณเอง บนลำโพงมือถือ บนลำโพงแลปทอป หรือในหูฟัง การ mastering ส่วนมากจะให้ความสำคัญกับระดับความดังของเสียง ความสมดุลย์ของย่านเสียงต่างๆ และความกว้างของ stereo field เพื่อทำให้แทร็คนั้นสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในงานระดับมืออาชีพนั้น มีความเป็นไปได้ว่าทั้ง 6 ขั้นตอนจะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่ละคนคอยรับผิดชอบอยู่ เช่นขั้นตอนแรกจะเริ่มจาก composer แต่งเพลงขึ้นมา แล้วส่งให้ arranger/orchestrator เรียบเรียงในขั้นที่สอง พอเรียบเรียงเสร็จก็จะส่งให้ producer ทำ midi sequencing และควบคุมการอัดเสียงร่วมกับ recording engineer ในขั้นตอนที่สามและสี่ พออัดเสียงเสร็จก็ส่งให้ mixing engineer มิกซ์เพลงในขั้นตอนที่ห้า ส่วน mastering engineer จะเป็นคนสุดท้ายที่ทำให้เสียงออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

สำหรับศิลปินและนักแต่งเพลงรายย่อย การเรียนรู้วิธีการทำ music production ด้วยตัวเองทั้ง 6 ขั้นตอนก็จะทำให้งานที่นำเสนอมีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น สามารถรับทำดนตรีประกอบ แต่งเพลง หรือทำคอฟเวอร์เพลงโดยเสร็จงานด้วยตัวเองได้ ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักแต่งเพลงและศิลปินในปัจจุบัน

ในบทความนี้ผมได้อธิบายขั้นตอนต่างๆ อย่างสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพรวมของการทำเพลง แต่ไม่สามารถลงลึกในทุกๆ หัวข้อได้เพราะแต่ละหัวข้อมีศาสตร์และศิลป์ที่ลึกซึ้งเป็นของตัวเอง เช่นการจะเรียนรู้ orchestration ได้ก็ต้องศึกษาสกอร์จำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ หรือการอัดเสียงก็มีเทคนิกการเลือกและวางไมค์ที่เหมาะสมกับเครื่องดนตรีต่างๆ และสถานการณ์ต่างๆ

ถ้ามีโอกาสในบทความต่อๆ ไปผมจะอธิบายลงลึกขึ้นในแต่ละหัวข้อที่ผมถนัดเช่น composition, orchestration, midi sequencing, mixing หรือแชร์ความรู้ในหัวข้อที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่เช่นการทำ mastering และเทคนิกใหม่ๆ ในการอัดเสียง ถ้าคุณเป็นคนนึงที่กำลังสนใจเรื่องการทำเพลงและคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ ก็อย่าลืมกด Like Page ไว้เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความต่อๆ ไปในอนาคตนะครับ

 

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

33,755 views

Comments


bottom of page